"ผู้สูงอายุ" เป้าหมายใหม่มิจฉาชีพ ช่องโหว่เงินออมเยอะ-อยู่คนเดียว

สังคม
29 มิ.ย. 67
13:27
761
Logo Thai PBS
"ผู้สูงอายุ" เป้าหมายใหม่มิจฉาชีพ ช่องโหว่เงินออมเยอะ-อยู่คนเดียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่การผลักดันเรื่องสวัสดิการ สิ่งที่น่ากังวลคือผู้สูงอายุ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญ ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซนเตอร์ สูญเงินจนเกิดภาวะความเครียด มิจฉาชีพมองว่านี่คือกลุ่มที่หลอกง่าย ได้เงินไว

วันนี้ (29 มิ.ย.2567) เพียง 2 ปีมีผู้สูงอายุที่ถูกมิจฉาชีพหลอก เกือบ 30,000 คน ตำรวจไซเบอร์เปิดเผยว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุวัยเกษียณมีเงินเก็บ ช่องโหว่คือการติดโทรศัพท์มือถือ อยู่คนเดียวกลางวัน ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการหลอกดูดเงิน ข้อมูลจากตำรวจไซเบอร์ บอกว่าวิธีการหลอกผู้สูงอายุ ของกลุ่มมิจฉาชีพ ยังคงเป็นวิธีการเดิม ๆ เช่น หลอกให้รัก, หลอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ, หลอกให้กดลิงก์ซื้อสินค้า หรือ หลอกทำธุรกรรม

ปัจจัยหลัก ๆ คือการขาดความรู้ทางเทคนิคในการใช้โซเชียลมีเดีย ไว้ใจคนง่าย ความโดดเดี่ยวทางสังคมอยู่คนเดียวในช่วงกลางวัน มีเงินออมเช่นเงินบำนาญ กองทุน เบี้ยผู้สูงอายุ และอาจจะมีฐานข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย

มีตัวเลขจากตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยช่วงอายุที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง ตั้งแต่ปี 2565 ถึง มิ.ย.2567 พบว่า กลุ่มอายุ 30-44 ปี มีจำนวน 173,708 คน, กลุ่มอายุ 45-59 ปี จำนวน 80,284 คน และอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 25,951 คน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

"ผู้สูงอายุ" เป้าหมายใหม่แก๊งคอลเซนเตอร์

ล่าสุดมีชายวัย 86 ปี ชื่อนายเจ้า ศรีรัตน์ ณ ลำปาง อดีตผู้จัดการธนาคาร โดนแก๊งคอลเซนเตอร์ วิดีโอคอลหาตอนอยู่คนเดียว หลอกว่าเป็นตำรวจ ใช้มุกเก่าอ้างว่าบัญชีธนาคารที่ใช้อยู่มีส่วนพัวพันกับขบวนการสีเทา เข้าข่ายบัญชีม้า รู้ยอดเงินในบัญชี ตอนนั้นตกใจและหลงเชื่อ จึงตกหลุมพลางโอนเงินเกือบ 900,000 บาท ไปให้บัญชีที่ชื่อนายมงคล และยังหลอกล่อให้ขายทองรูปพรรณที่เก็บไว้ไปขายและให้โอนเงิน ทำให้เอะใจว่าถูกหลอก จึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี พร้อมฝากบอกว่าเวรกรรมมีจริง อย่าทำแบบนี้กับใครอีก

ส่วนที่เชียงใหม่ ก็มีหญิงวัย 64 ปี เข้าแจ้งความตำรวจ หลังถูกเพจในเฟซบุ๊กชักชวนร่วมลงทุน โดยให้โอนเงินเข้าระบบฝากเงิน เพื่อรับค่าคอมมิชชัน ระยะแรกได้รับเงินจริงตามที่กล่าวอ้าง ทำให้เชื่อใจ และ โอนเงินลงทุนไปเพิ่มอีกหลายครั้ง จนสูญเงินกว่า 250,000 บาท ก่อนจะรู้ตัวว่าถูกหลอก

ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่เผยว่ามีคดีหลอกลวงออนไลน์ที่ได้รับแจ้งความกว่า 20,000 คดี เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นสูงวัย แนวทางป้องกันได้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครบทั้ง 25 อำเภอ โดยการลงพื้น พูดคุยกับผู้สูงอายุ ป้องกันการถูกหลอกลดน้อยลง

ตร.ไซเบอร์แนะครอบครัวเสริมข้อมูลภัยออนไลน์ผู้สูงอายุ 

ตำรวจไซเบอร์ ให้ข้อมูลว่าการที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมีตัวเลข 13 ล้านคน ปัจจุบันผู้สูงอายุมักจะติดโทรศัพท์ ใช้โซเชียลคนเดียวตอนกลางวัน และชอบแชร์ความเป็นส่วนตัวในเฟซบุ๊ก แก๊งคอลเซนเตอร์ที่ีทำงานเป็นขบวนการ จะจับตา และเจาะฐานข้อมูลทั้งในเฟซ และข้อมูลส่วนตัว ดูพฤติกรรม

จากนั้นจะทักไลน์ ทักข้อความผ่านเฟซ หรือโทรศัพท์พูดคุย ให้ตายใจ ใช้จิตวิทยาหลอกล่อ เพราะรู้ว่าเมื่ออยู่คนเดียว ด้วยอายุอาจจะไม่มีสติ ที่น่ากังวลคือเมื่อเงินถูกโอนออกแล้ว บัญชีม้าจะโอนเงินไปบัญชีในต่างประเทศทันที ยากต่อการได้คืน ฉะนั้นการดูแลจากคนในครอบครัวยังเป็นการป้องกันพื้นฐานที่ดีที่สุด เพื่อลดตัวเลขการถูกหลอก

อ่านข่าว : 

คนไทยสู้ไม่ถอยดัน "ROCKSTAR - ลิซ่า" 32 ล้านวิว ใน 24 ชม.

แฟนคลับร่วมอาลัย แม่ "บิ๊ก D2B" เสียชีวิต

หลากมุมมอง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” สอบตก สว. เพราะอะไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง