ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แรก ๆ ไฟแรง หลัง ๆ ไฟมอด "Burnout" ภาวะหมดไฟในที่ทำงาน

ไลฟ์สไตล์
2 ก.ค. 67
20:11
994
Logo Thai PBS
แรก ๆ ไฟแรง หลัง ๆ ไฟมอด "Burnout" ภาวะหมดไฟในที่ทำงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาวะหมดไฟเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ ด้วยการตระหนักรู้และดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รวมถึงเราสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่มีภาวะหมดไฟได้ ด้วยความอดทน เข้าใจ ให้การสนับสนุนอย่างจริงใจ ทำให้เพื่อนกลับมาไฟลุกอีกครั้ง

"Burnout" หรือ "ภาวะหมดไฟ" หมายถึง สภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ถูกทำให้เหนื่อยล้าและหมดพลังงานจากการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน การหมดไฟไม่ใช่แค่ความรู้สึกเหนื่อยล้าธรรมดา แต่เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากกว่าการเหนื่อยล้าทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของงาน ความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน

Work ไร้ Balance สาเหตุหลักคนหมดไฟ

เหตุผลหลักซึ่งทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ปริมาณงานและคนที่ไม่สมดุลกัน รวมทั้งการใช้เครื่องมือหรือระบบที่ไม่เหมาะสม ทำให้ลดเวลาและกระบวนการทำงานไม่ได้ หัวหน้างานขาดความรับผิดชอบ ไม่ฟังความคิดเห็น และโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น สถานการณ์ Burnout Syndrome ในประเทศไทยน่ากังวลไม่น้อย ผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนวัยทำงานใน กทม. ร้อยละ 12 อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน และร้อยละ 57 มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

ที่น่าสังเกตคือ ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็น Burnout Syndrome สูง โดยกลุ่มเจน Z (ช่วงอายุต่ำกว่า 22 ปี) กำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุดถึงร้อยละ 17 กลุ่มเจน Y หรือช่วงอายุ 23 - 38 ปี ร้อยละ 13 ส่วนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือช่วงอายุ 55 - 73 ปี อยู่ในภาวะหมดไฟเพียงร้อยละ 7 หากแยกเป็นกลุ่มอาชีพ คนที่มีภาวะ Burnout Syndrome มากที่สุดคือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 77 ถัดมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 73 ข้าราชการ ร้อยละ 58 และธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 48

อาการของคนหมดไฟ

อาการของภาวะหมดไฟมีหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นอาการทางกาย ผู้ที่เริ่มเข้าสุ่ภาวะหมดไฟจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ส่วนอาการทางจิตใจ จะรู้สึกหมดพลังงาน ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับหรือความสำเร็จ ขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และรุนแรงถึงขึ้นคิดลาออก

หมดไฟก็หมดใจ ไร้พลังทำงาน

  1. ผลการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพของงานลดลง ซึ่งจะกระทบไม่เฉพาะแต่งานในอาชีพของตน แต่จะกระทบทีมงาน และองค์กรด้วย
  2. ความคิดสร้างสรรค์ลดลง ขาดแรงจูงใจและความสนใจ ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อองค์กร
  3. ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและองค์กร รวมถึงคนในครอบครัว
  4. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

How to เติมไฟก่อนไฟมอด

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟมักแก้ปัญหาแตกต่างกันโดยกลุ่มผู้ชายเลือกคลายเครียดด้วยการเล่นเกม ออกกำลังกาย ขณะที่ผู้หญิงมักพูดคุยกับเพื่อน ใช้โซเชียลมีเดีย และการพูดคุยกับครอบครัว

คำกล่าวที่ว่า "การป้องกันดีกว่าการรักษา" นั้นเป็นเรื่องจริง เพื่อป้องกันภาวะหมดไฟสามารถเริ่มต้นนำความสมดุลกลับมาสู่ชีวิต ด้วยวิธีการ เช่น

  • ขอความช่วยเหลือ พูดคุย ปรึกษา ระบายความเครียดกับคนที่สามารถช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว
  • พบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกเวลางานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง งดหรือลดพบปะพูดคุยกับคนที่ทำให้รู้สึกแย่
  • เข้าร่วมกลุ่มที่ช่วยให้ชีวิตรู้สึกดีและมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่าง ๆ ทำให้มีเพื่อนใหม่ ช่วยให้มีความสุขทางใจ ลดความเครียด
  • ปรับเปลี่ยนมุมมองและค้นหาคุณค่าในงานที่ทำอยู่ รวมทั้งสร้างความสมดุลระหว่างงานและชีวิตด้านอื่น ๆ
  • ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้ความเครียดในการทำงานลดลง บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำงานได้ผลดีขึ้น ผ่านช่วงเวลายากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น
  • พัก ลางานไปใช้เวลาในสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรจัดการเมื่อเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานคือ พัฒนาทักษะการจัดการปัญหาและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ พัฒนาทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง และยืนหยัดรักษาสิทธิของตนเอง

ช่วยเติมไฟเพื่อน เมื่อเพื่อนหมดไฟ

เมื่อเจอเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่มีภาวะหมดไฟ การสนับสนุนหรือให้การช่วยเหลือเชิงบวก จะช่วยให้ภาวะหมดไฟไม่ลุกลามไปจนเกิดความเสียหายต่อจิตใจเพิ่มขึ้นได้

  • สังเกตว่าเพื่อนแสดงอาการหมดไฟหรือไม่ เช่น เหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ หดหู่ เครียด ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการสนใจในงาน เป็นต้น
  • เริ่มพูดคุยอย่างเป็นมิตรในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง แสดงความห่วงใยอย่างจริงใจ
  • ใช้คำถามที่ไม่กดดัน เช่น "ช่วงนี้คุณเป็นยังไงบ้าง ? " หรือ "เห็นคุณดูเหนื่อย ๆ มีอะไรให้ช่วยบอกได้นะ"
  • ฟังอย่างตั้งใจ อย่าขัดจังหวะหรือแสดงท่าทางตัดสินเมื่อเพื่อนเปิดอกระบายความในใจออกมา
  • เสนอความช่วยเหลือ เช่น แบ่งเบาภาระงาน จัดสรรเวลาที่สามารถช่วยเพื่อนได้ และไม่ทำให้ตัวเราเองเดือดร้อน
  • เสนอการพักผ่อนและดูแลตัวเอง ชวนเพื่อนเที่ยว หรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะที่ช่วยให้ผ่อนคลาย 
  • แนะนำแหล่งข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หากเพื่อนต้องการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
  • หมั่นตรวจสอบว่าเพื่อนยังมีอาการหมดไฟอยู่หรือไม่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นกันเอง เพื่อให้เพื่อนรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจและพร้อมช่วยเหลือเสมอ

อ้างอิงข้อมูล : THLA สมาคมส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ่านข่าวอื่น : 

ผู้ป่วยจิตเวชพุ่งสูง! จิตแพทย์ไม่พอเฉลี่ย 1.25 คนต่อแสนคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง