ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจคุย "ธรณ์" วิกฤตปะการังฟอกขาว ในวันใต้ท้องทะเลไทยเดือด

ภัยพิบัติ
4 ก.ค. 67
10:48
384
Logo Thai PBS
เปิดใจคุย "ธรณ์" วิกฤตปะการังฟอกขาว ในวันใต้ท้องทะเลไทยเดือด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผลพวงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลก็สูงขึ้นกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ สอดคล้องกับที่องค์การบริหารมหา สมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA ได้ประกาศว่าปีนี้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์

ปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กระทบต่อสัตว์ทะเลที่ใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง ขาดที่อยู่อาศัย ขาดแหล่งอาหาร ขาดแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเล็ก และขาดที่หลบภัย ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รายการคุยนอกกรอบ กับ "สุทธิชัย หยุ่น" พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านท้องทะเล "ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ทุ่มเทการทำงานเพื่อรักษา และยืดอายุระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลให้ยาวนานที่สุด แม้ความร่วมมือ ความเอาจริงเอาจัง และการตระหนักถึงปัญหาจากภาครัฐยังมีน้อย

ด้วยประสบการณ์การทำงานกับทะเลมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ยิ่งได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ในคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทำให้ "ผศ.ธรณ์" ได้ศึกษาข้อมูลมากขึ้นจนเห็นภาพในอนาคตว่า จะเกิดปะการังฟอกขาว ที่น่ากังวลไม่ใช่ว่าสิ่งที่เคยพูดไว้มันเกิดขึ้น แต่มันเกิดมากกว่าที่เคยพูดไว้

"เคยเห็นการระเบิดปลาในทะเล หรือการปิดเกาะเพื่อเยียวยาระบบนิเวศใต้ทะเลที่ถูกทำลาย แต่การเกิดปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ เรียกได้ว่าหนักที่สุดเท่าที่เคยเห็น  เรียกได้ว่า ทั่วท้องทะเลไทย"

"ปะการังฟอกขาว" วิกฤตทะเลไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองปะการัง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวหลายแสนก้อนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หาจำเลยไม่ได้ แม้แต่การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ หรือการตรวจสอบต่าง ๆ เพราะผลกระทบจากธรรมชาติ "โลกร้อน" แต่หากมองย้อนไปที่ต้นเหตุโลกร้อน นั่นก็คือ "มนุษย์" (human in bill global warming) ทั้ง 7,000 ล้านคนทั่วโลก

"คาดการณ์ผิดมาตลอด คิดว่า จะเกิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า ไม่คิดว่าจะเป็นตอนนี้ หากเปรียบเป็นเส้นกราฟจากตอนแรกก็ราบเรียบแบบปกติค่อย ๆ ทีละนิด แต่เส้นกราฟปัจจุบันมีลักษณะเหมือนเอสเคิร์ฟ ที่มีการหักหัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัญหาทั้งโลกกว่า 60 ประเทศ เรียกได้ว่าเป็นหายนะระดับโลก ครั้งที่ 4"

โดยปกติธรรมชาติจะฟื้นตัวเองตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เฉกเช่น โลกเคยร้อนกว่านี้จนทำให้ปะการังตาย นั่นก็เพราะการสะสมของเวลาหลายพันปีที่ทำให้โลกค่อย ๆ ร้อนขึ้นแต่ละองศา แต่ ปัจจุบันเหมือนโลกมันหดเวลาลงมา จนทำให้ความร้อนพุ่งสูงขึ้นเหมือนขีปนาวุธที่พร้อมจะทำลายได้ทันที จนธรรมชาติรับไม่ไหว

แม้ว่า ในตอนนี้กำลังเข้าสู่สภาวะ "ลานีญา" ไปจนถึงปี 2568 จะช่วยให้น้ำทะเลเย็นลง แต่อีก 5 ปี เอลนีโญ ก็มาใหม่ ร้อนหนักกว่าเดิมเพราะโลกร้อนขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปะการัง หรือปลา แต่อีกปัญหา คือ คนที่ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติ ประเทศไทยเราละทิ้งคนเหล่านั้นมากถึงมากที่สุด โดยที่ไม่มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ

ผศ.ธรณ์ เล่าว่า เพิ่งเดินทางไปเที่ยวเกาะหมากมา ได้คุยกับชาวประมง เขาลงอวนจับปู 5 กอง กองหนึ่งยาว 100 เมตร วางอวนตั้งแต่ตอนเย็นถึงดึก และเก็บอวนตอนรุ่งสาง ปรากฏได้ปูมาแค่ 2 กิโล กรัม ขายได้ 600 บาท ซึ่งเงิน 600 บาท คือ รายรับ ยังไม่หักค่าน้ำมันเรือ และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ

ในขณะที่คนกรุงเทพมหานคร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 10 ล้านตัน หรือมากกว่า 10 เท่า หากเทียบกับคนเหล่านั้นที่ทำมาหากินกับธรรมชาติ แต่พวกเขากลับเป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุด ภาวะโลกร้อนไม่มีคำว่า ยุติธรรม และธรรมชาติไม่มีคำว่า สงสาร ดังนั้น จึงมีแต่ เราเท่านั้นที่จะต้องเข้าไปช่วยให้เขาอยู่ได้ แต่ตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าต้องเริ่มจากตรงไหน

"กีดกันสินค้า" กับมาตราการแก้ปัญหาของรัฐ

ผศ.ธรณ์ ยังมองถึง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมโลกร้อน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาในประเทศไทย แต่ก็เห็นเพียงไปมุ่งเน้น ในเรื่องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในประชุมความเคลื่อน ไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "COP28" ด้วยการจะลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ในมุมมองของตนเอง คิดว่า เป็นคำพูดที่ผลักภาระให้พ้นตัวเนื่องด้วยรัฐ บาลไม่ได้อยู่ทำงานไปจนถึง 30 ปีตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ "เพราะฉะนั้นคำสัญญาของมนุษย์ คุณจะสัญญาอะไรก็ได้ ในเมื่อคุณไม่อยู่แล้วจนถึงวันที่คุณสัญญาไว้"

ส่วนเรื่อง "Net Zero" ที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องย้อนกลับมาดูว่า "ปะการังตายวันนี้ คนกำลังจะอดตายวันนี้" ทำไมจึงไม่มีมาตรการฉุกเฉินเฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาก่อน ขณะที่ประเทศไทยอาจจะต้องเจอปัญหากับการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เมื่อสหภาพยุโรป (EU) มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ที่เรียกว่า CBAM หรือ การกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU) โดยสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีผลบังคับใช้ ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม

ผศ.ธรณ์ บอกว่า แม้ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีผลบังคับใช้นั้นประเทศไทยไม่ได้มีการส่งออก แต่สินค้ากลุ่มที่สอง ที่เตรียมจะมีการประกาศบังคับใช้ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไทยกำลังจะเจอกับมาตรการภาษีสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น และเราแข่งกับเขาไม่ได้ เพราะเขาจะต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางการผลิตว่าเราไม่ได้สร้างปัญหาโลกร้อนให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การปลูกข้าว และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

การหายไปของนักท่องเที่ยว "ทะเล"

หลายครั้งก็ไม่เข้าใจว่า บางครั้งเราอาจจะพยายามขายการท่องเที่ยวทางทะเลมากจนเกินไป จนหลงลืมว่า ทะเลที่เรากำลังจะขายให้กับนักท่องเที่ยว กำลังอยู่ในสภาพไหน

ผศ.ธรณ์ มองว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางมาทะเล อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็จะต้องดำน้ำลงไปดูแนวปะการัง แต่ตอนนี้ปะการังที่มีอยู่ขาวโพนไปทั่ว หากไม่เร่งแก้ไข เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มหายไปทีละนิด ๆ และรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะค่อย ๆ หายไปด้วย …ส่วนที่มีหลายคนบอกว่า ประเทศอื่นก็โดน ไม่ว่าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวที่ไปก็เจอปะการังฟอกขาวเหมือนกัน

ผศ.ธรณ์ อธิบายว่า อินโดนีเซีย มีปะการังฟอกขาวประมาณ 3,000 เกาะ จากที่มีอยู่ 18,000 เกาะ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่มีปะการังฟอกขาวทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย เหลือเพียงแค่เกาะสุรินทร์ และเกาะสิมิลันที่ยังพอมีความหวังอยู่ จึงเรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสมากกับสถานการณ์ทะเลไทยตอนนี้

"ผมรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน และค่าเทอมนิสิตเพื่อมาสอนหนังสือ ผมสอนเทอมละ 2,000 กว่าคน และผมก็เป็นคนหนึ่งที่หารายได้เข้าคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ คำถามคือ…แล้วทำไมผมต้องรับผิดชอบในเรื่องการฟื้นฟูทะเลเพียงคนเดียว ทั้งที่มีคนที่ใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อมาเป็นเงินเดือนและการทำงานของตัวเองในการดูแลรับผิดชอบ"

รับ - ปรับตัว ทางรอดของทะเล

ผศ.ธรณ์ มองประเทศไทย "ธรรมชาติ – คน" ไม่มี Resilience คือ "รับ กับ ปรับตัว" ที่ยังมีความอ่อนแอ ระบบ หรือแม้กระทั่งคนของเรา ยังไม่มีความเข้าใจอย่างท่องแท้ เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ทำได้เพียงรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รู้ว่าควรจะแก้อย่างไรต่อ ดังนั้นจึงได้เริ่มใน 3 โครงการเพื่อฟื้นฟูทะเลไทย ได้แก่ "โนอาร์" การเอาสายพันธ์ปะการังเก็บอย่างละนิดละหน่อย เพื่อป้องกันการตายไปพร้อมกัน , "Shading" การติดตั้งสแลนลดแสงให้ปะการัง และ "together" การทำงานในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกันระหว่างแต่ละหน่วยงาน และต้องขยายไปเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับโลกร้อน

แม้สิ่งที่ทำตอนนี้จะไม่ใช่ทางออกถาวร แต่ก็ถือว่าเราได้เริ่มไว้แล้ว สมมุติอย่างการติดตั้งสแลนลดแสง ซึ่งเราได้ลองทำแล้ว รู้แล้วว่าจะเป็นอย่างไร หากรัฐบาลเกิดเอาจริงเอาจัง คราวหน้าเราก็มีข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรได้ต่อ เพราะเรารู้ว่ามันจะต้องเกิดอีกแน่นอนและเพิ่มขึ้น หากเราไม่ยอมเรียนรู้ตั้งแต่ต้น ก็จะไม่มีทางไปไหนได้เลย

ตอนนี้มีอาสาสมัครที่อยู่ในทีมประมาณ 230,000 คน เพื่อช่วยกันฟื้นฟูดูแลทะเลไทย ผศ.ธรณ์ บอกว่า ตอนนี้ในการทดลองทำวิจัยต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ที่ทะเลไทย เพราะติดกฎหมายคุ้มครองปะการัง ทำให้ต้องเดินทางไปการทดลองที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ ก่อนจะนำความรู้มาถ่ายทอดต่อในประเทศไทย

การเมือง กับ การฟื้นฟูทะเลไทย

อาจารย์ธรณ์ บอกว่า โลกร้อน เป็นเหมือน "Blue Ocean" หรือ ธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในด้านความต้องการ ในด้านของการเมือง ที่สามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง ถามว่า..ก็เห็นมีหลายพรรค การเมืองได้มีการเขียนแนวนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้ เท่าที่เห็นเป็นเพียงแนวนโยบายแต่ยังไม่มีใครขับเคลื่อนให้เกิดผลได้จริง นั่นก็เพราะนโยบายดังกล่าวจะต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะทำให้ประชาชนเห็นเพื่อเป็นฐานเสียงให้ตัวเอง

แตกต่างจากเรื่องปากท้องที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันที ดังนั้นจึงอยากฝากความหวังให้ทุกคนได้ร่วมมือและเห็นความสำคัญกัน และทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงก่อนที่จะสายไป

ก่อนที่จะไปถึงดาวอังคาร จะสร้างโลกใหม่ ถ้าเกิดถึงขั้นสร้างยานอวกาศเพื่ออพยพคนเดินทางไปโลกใหม่ ทำไมคุณถึงไม่เอาเงินมากมายมารักษาโลกนี้ไว้อยู่ต่อ ถ้าหากมีเงินขนาดนั้น

พบกับรายการคุยนอกกรอบ กับ "สุทธิชัย หยุ่น" ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ม.พิษณุโลก ปัดซื้อขายวุฒิปลอม 2 แสน-ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง

รวบ 2 สาวเครือข่ายหลอกลงทุนหุ้น ชายสูงวัยสูญ 35 ล้านบาท

ลุ้น "อุทยานฯ ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 26-29 ก.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง