- จับตา! เฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่แก้ปัญหาที่ดินเพื่อใคร
- พฐ.สงสัย “หิ้งพระ” ต้นเพลิงไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช
กรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธฺุพืช จัดรับฟังความคิดเห็นเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่ 265,266 ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566 ที่เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้แผนที่ ONE MAP ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 พื้นที่ป่าทับลาน
กระทั่งกลุ่มนักอนุรักษ์ รวมถึงผู้ใช้โซเชียลออกมาคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ #Saveทับลาน ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของแอปพลิเคชัน X ในวันนี้ (8 ก.ค.2567) หลายคนสะท้อนข้อกังวลว่าผืนป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จะตกไปอยู่ในมือของนายทุน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธฺุพืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ช่วงวันที่ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการการจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ ใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยยังเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้
การดำเนินการรับฟังความเห็นเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ตามมติ ครม. หากแล้วเสร็จทั้ง 2 ช่องทาง ทางกรมอุทยานฯ จึงจะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ คาดว่าจะนำเสนอให้พิจารณาได้เร็วสุดภายในเดือน ส.ค.นี้
หากประมวลข้อคิดเห็นแล้วเสร็จ คาดว่าอย่างช้าภายใน 1-2 เดือน จะสรุปให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติชี้ขาดเพิกถอนป่าทับลานหรือไม่ แต่ยังมั่นใจว่าจะไม่จะเพิกถอนป่าถึง 2.6 แสนไร่แน่นอน
นายอรรถพล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกระแสวิจารณ์ต่อกรมอุทยานฯ ว่าไม่มีท่าทีคัดค้านการเพิกถอนป่าทับลาน 265,266 ไร่ ยืนยันว่า กระบวนการต่าง ๆ ยังไม่สิ้นสุด และการรับฟังความเห็นครั้งนี้จะนำมาประกอบเหตุผลให้บอร์ดอุทยานพิจารณา แต่จะไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ทับลานแบบเหมาเข่งอย่างที่นักอนุรักษ์กังวลเด็ดขาด เพราะก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ แยกและกำหนดรูปแบบของที่ดินทำกินในป่าทับลานไว้ 3 กลุ่มชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ตกว่า 400 แห่งที่ติดในคดีจะต้องไม่ได้ครอบครองที่ดินป่าอนุรักษ์
คดีรีสอร์ต 400 กว่าแห่งในป่าทับลาน ยังยึดกฎหมายเดิมคือเป็นผู้บุกรุก ต้องดูคุณสมบัติเป็นหลัก คนละส่วนกับการเพิกถอนพื้นที่
ส่วนข้อกังวลว่าหากมีการเพิกถอนป่าทับลานได้แล้ว จะถูกใช้เป็นโมเดลกับป่าอนุรักษ์อื่น ๆ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้โมเดลเดียวกันได้แน่นอน ส่วนที่เลือกทับลานเป็นแห่งแรก เพราะได้ผ่านการตรวจสอบตามมติ ครม.ปี 2543 ให้สำรวจไว้แล้ว
ขณะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เตรียมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้มีการพิจารณากระบวนการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาให้ข้อมูล โดยยืนยันว่า ไม่ควรเพิกถอนแบบเหมาเข่ง
อ่านข่าว :
เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
7 ข้อค้านเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่ห่วงเปลี่ยนมือ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่