ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปลาหมอสีคางดำ ระบาด 13 จังหวัด หนุนเป็นอาหารประจำถิ่น สร้างมูลค่า

สิ่งแวดล้อม
9 ก.ค. 67
14:53
3,338
Logo Thai PBS
ปลาหมอสีคางดำ ระบาด 13 จังหวัด หนุนเป็นอาหารประจำถิ่น สร้างมูลค่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมประมง เผยตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา "ปลาหมอสีคางดำ" ระบาด พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระจาย และการประชาสัมพันธ์สร้างองค์ความรู้ ขณะที่ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ระบุแนวทางการกำจัด 3 ระดับ พร้อมส่งเสริมเป็นอาหารประจำถิ่นเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

วันนี้ (9 ก.ค.2567) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่ปลาหมอสีคางดำกำลังระบาด ว่า ปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์ต่างถิ่น ซึ่งประเทศไทยเองมีสัตว์ต่างถิ่นหลายชนิด ปลาที่มาจากแอฟริกา อยู่บนพื้นฐานของการสมมุติฐาน 2 ข้อ คือการลักลอบนำเข้า และ มีผู้นำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ อาจจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการหลุดรอดออกสู่ธรรมชาติ 

กรมประมงได้มีการประสานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหานี้สำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์  ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะ โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตร เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาด เข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อหาทางแก้ไข ในพื้นที่ที่มีการระบาด 13 จังหวัด และมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อทำการค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

อ่านข่าว : รู้หรือไม่ “ปลาหมอสีคางดำ” เข้ามาระบาดในไทยได้ยังไง

ส่วนจากรายงานการวิจัย ตัวอย่าง DNA จากซากในพื้นที่ทดลอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อนำมาเทียบเคียงกับปลาที่แพร่พันธุ์มีความสัมพันธ์กับการนำเข้ามาของเอกชนเพื่อทำการทดลองหรือไม่ นายบัญชา ระบุว่าเรื่องนี้ยังไม่ทราบ ต้องทำการตรวจสอบก่อน

สำหรับตัวอย่าง DNA เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ต้องมีการค้นหาและตรวจสอบ ถ้า NDA ดังกล่าวยังอยู่ก็ต้องนำไปดำเนินการตามขั้นตอนให้เป็นไปตามเจตนาของกฎหมายแต่ละห้วงเวลา

ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 ใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 54 ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจตนาของกฎหมายคือเรื่องโรคระบาด และสารตกค้างในสัตว์น้ำที่นำเข้า ยังไม่ได้มีเจตนาในเรื่องของสัตว์ต่างถิ่น จนกฎหมายที่ออกมาใหม่ พ.ร.ก.การประมง ได้กำหนดในมาตรา 65 เรื่องสัตว์ต่างถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ จึงจำเป็นต้องคุ้มครองความหลากหลาย ซึ่งหลักกฎหมาย อดีตและปัจจุบันมีเจตนาที่แตกต่างกัน

ในส่วนของปลาหมอสีคางดำ มีการออกกฎกระทรวงเป็นการเฉพาะว่า การนำเข้าต้องได้รับอนุญาต ต้องให้คณะกรรมการความหลากหลายชีวภาพพิจารณา

กลไกในการจัดการของคณะทำงานที่ตั้งขึ้น ตั้งแต่ควบคุมจัดการแต่ละพื้นที่ ส่วนปลาที่จับได้ก็จะแปรรูปเป็นปลาป่น และให้ผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องดูในเรื่องราคาที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระจาย และการประชาสัมพันธ์สร้างองค์ความรู้ ซึ่งทางกรมประมงได้คิดการวิจัยเพื่อทำหมันปลาด้วย

ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.) จะมีกำหนดการเดินทางไป จ.เพชรบุรี เพื่อ Kick off ทำหมันปลาหมอสีคางดำโดยใช้หลักการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม

อ่านข่าว : ประกาศจับ “ปลาหมอสีคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ทำลายระบบนิเวศ

3 แนวทางกำจัด "ปลาหมอสีคางดำ"

สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงแนวทาง แนวทางในการแก้ปัญหา การแพร่ระบาดสัตว์น้ำต่างถิ่นต้องมีการศึกษาวิจัย วางแผนจัดการแบบองค์รวม ในฐานะนักวิชาการแบ่งเป็น 3 ระยะ

1.ระยะต้น ระยะเร่งด่วน การส่งเสิรม เนื่องจากการจับอย่างเดียวไม่สามารถจับได้อย่างเดียว ต้องการจับแล้วสามารถส่งเสริมให้เป็นอาหารประจำถิ่นของแต่ละพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งการนำไปประกอบอาหารจะทำให้ลดจำนวนประชากรได้อย่างต่อเนื่อง

2.ระยะกลาง คือการศึกษาวงชีวิตของปลา เพื่อจะให้รู้ว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนจะแพร่พันธุ์ได้ดี และช่วงไหนที่มีการวางไข่ เพื่อตัดวงจรชีวิตได้ตั้งแต่ต้นทาง

3.ระยะยาว คือต้องให้ความรู้ และสร้างความรู้ในชุมชน ทำอย่างไรให้สามารถสร้างสมดุลนิเวศได้

การกำจัดจะเกิดปัญหาหรือไม่ ไกลกว่าพื้นที่ที่ทดลอง ในส่วนการทดลองหรือการทำวิจัย มีข้อจำกัดว่าเป็นปลาที่นำเข้ามา ถ้าทดลองเสร็จแล้วต้องมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลสำเร็จ ทั้งนี้คาดว่ามาตรการของรัฐบาลก็มีความหละหลวมบางอย่างในการติดตามของสัตว์เอเลียนสปีชีส์ในเรื่องของการนำเข้า ซึ่งถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต้องเพิ่มมาตรการทางภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องติดตามการนำเข้าของสัตว์ต่างถิ่น ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดการภาวะของระบบนิเวศที่จะสูญเสียระบบสมดุลไปมากกว่านี้

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ มีวิธีป้องกันได้ระดับหนึ่ง การเตรียมน้ำเพาะเลี้ยง ต้องฆ่าสิ่งที่ไม่ต้องการ โดยวิธีธรรมชาติก็จะมีวิธีการจัดการโดยวิธีการพักบ่อ ตากบ่อ กรองน้ำ หรือใช้สารบางอย่างช่วยในการจัดการปรสิต หรือตัวปลาอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับที่เพาะในบ่อเลี้ยง

แต่ถ้าแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ได้มีการกรองน้ำ ไม่ได้มีการพักน้ำ หรือใช้สารในการจัดการ เมื่อปลาพวกนี้โตไวกว่า ก็จะกินสัตว์ที่เลี้ยงได้

เกษตรกรในบางพื้นที่ ทั้งกินและกำจัดควบคู่กันไป หรือการหาปลานักล่ามาปล่อย แต่ทำให้ต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้การปล่อยปลานักล่า ได้รับการส่งเสริมระดับหนึ่ง แต่ปลานักล่าก็จะกินสัตว์ในบ่อด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องมีอัตราส่วนที่ที่เหมาะสมกัน ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจุดที่เหมาะสมยังไม่ยืนยันว่าควรจะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่

ระยะยาว ต้องวางนโยบาย ระดมความคิด หน่วยงานหลายๆส่วนมาร่วมมือช่วยกัน การสร้างสมดุลที่สุดคือ อย่างน้อยแม้จะจบออกไปไม่หมด แต่จำกัดให้อยู่ในวงแคบได้ หรือสามารถที่จะทำให้เกิดมูลค่าได้ในเศรษฐกิจได้

อ่านข่าว :

ลงแขกจับ "ปลาหมอสีคางดำ" สมุทรสาคร พบ 4 เดือนจับได้ 4.7 แสนตัว

“ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดหนักทุกสายน้ำ “นครศรีธรรมราช”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง