พื้นที่เวียงแก้ว วัตถุประสงค์หลักๆเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ ผ่านศูนย์ข้อมูลต่างๆที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการฯ เป็นแหล่งถ่ายทอดข้อมูลนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้กับทุกคนที่สนใจไม่ว่าจะเป็นคนเชียงใหม่ หรือ นักท่องเที่ยว จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่ ว่าพื้นที่ตรงนี้ในอดีตมีความสำคัญอย่างไร รวมถึงการใช้ประโยชน์ในฐานะพื้นที่สาธารณะของเมือง
นายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงวัตถุประสงค์หลักๆของโครงการพัฒนาช่วงหลวงเวียงแก้วที่เกิดขึ้นจากมติ คณะรัฐมนตรี ปี 2555 อนุมัติใช้งบกลางใช้งบปี 2556 ให้ใช้พื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยมอบหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ระยะแรกมีแผนพัฒนาโครงการพื้นที่เป็น "พุทธมณฑล" ให้เป็นพื้นที่ทางศาสนา
เมื่อการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน จ.เชียงใหม่ ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องอยากให้เป็นพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียว โดยมีการประกวดแบบ ซึ่งเหตุตอนนั้นประชาชนมองว่าพื้นที่เมืองเชียงใหม่มีกลุ่มของศาสนสถานจำนวนมากแล้วในเมือง จึงเป็นที่มาของการประกวดแบบ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมประกวดแบบมีผู้ที่สนใจส่งแบบเข้าประกวดมีผู้สนใจจำนวน และได้คัดเลือกแบบให้เหลือ 15 แบบ พร้อมให้นำเสนอข้อมูลและแนวคิดการออกแบบ
อย่างไรในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ก็ยังได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงคะแนนและการพัฒนาพื้นที่ โดยแบบที่ชนะคือรูปแบบ "เผยแผ่นดิน ถิ่นเวียงแก้ว" รูปแบบหลักๆ คือ การนำเสนอพื้นที่ปัจจุบันที่เป็นเรือนจำ โดยมีการขุดค้นทางโบราณคดี และเปิดแผ่นดินขึ้นมา เพื่อลงไปดูพื้นที่ดินปัจจุบันและในอดีต พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อะไร เป็นแบบที่ชนะการประกวดปี 2557
แบบที่ชนะการประกวด “เผยแผ่นดิน ถิ่นเวียงแก้ว” โดย ผศ.ดร.กวิน ว่องวิกย์การ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ได้รูปแบบการก่อสร้างทำไมก่อสร้างไม่ได้?
นายพงษ์ศักดิ์ ระบุว่าแม้ได้แบบที่ประกวดแล้วแต่ยังก่อสร้างไม่ได้ สาเหตุมาจากเดิมได้งบประมาณ 150 ล้านบาทมีแผนการทำเป็นพุทธมณฑล เมื่อได้รับฟังความเห็นประชาชน เสนอเป็น สวนสาธารณะจึง ได้จัดสรรงบประมาณสวนหนึ่ง 120 ล้านบาทสำหรับก่อสร้าง และอีกส่วนผู้ว่าราขการจังหวัดเชียงใหม่ได้นำงบส่วนหนึ่งมาให้ สำนักศิลปากรเชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี และบันทีกเป็นจดหมายเหตุข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆในพื้นที่เวียงแก้ว
พื้นที่บริเวณเวียงแก้ว หลังการขุดค้นโบราณคดี พบโบราณสถานสำคัญเช่น กำแพงเวียงแก้วสมัยล้านนา
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เชียงใหม่ ดำเนินการบันทึกข้อมูลทั้งหมด ว่าปัจจุบันที่เป็นเรือนจำกี่หลัง ภาพถ่ายเป็นอย่างไร จนเป็นที่มาหลังจากดำเนินการบันทึกจดหมายเหตุเรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการขุดค้น รื้อ ถอนอาคารบางส่วน ได้ดำเนินการประกวดราคาตามวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อหาผู้รับจ้างที่จะดำเนินการก่อสร้างตามโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว โดยใช้การประกวดราคาถึง 3 ครั้งกว่าจะได้ผู้ชนะเสนอราคาได้ปี 2557
การเปิดหน้าดินขุดค้นทางโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้พบข้อมูลโบราณสถาน มีการบันทึกข้อมูลไว้หมดอะไรอยู่ตรงไหน ใช้หลักฐานข้อมูลตรงนี้เป็นฐานการปรับแบบก่อสร้างแบบเดิม ที่ชนะการประกวด และทำสัญญาผู้ว่าจ้าง
แนวทางโบราณสถานที่ขุดค้นพบและอนุรักษ์โบราณสถาน
หลักการพัฒนาพื้นที่ข้อแรก คือ การพัฒนาพื้นที่ไม่ให้ทับซ้อนกับซากโบราณสถานไม่ว่าจะเป็นรากฐานต่างๆ หรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีการทับในแนวโบราณสถานเดิม
หลักการพัฒนาพื้นที่ข้อสอง แบบที่ชนะการประกวดจะคงรูปแบบเดิม "เผยแผ่นดิน ถิ่นเวียงแก้ว" และมีการปรับแบบ การปรับแบบ ตามที่มีการตั้งคณะทำงานมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนกรมศิลปากร ซึ่งเป็นนักวิชาการ ซึ่งจะให้ข้อมูลและความเห็นว่าแบบที่จะปรับเหมาะสมหรือไม่
โบราณสถานหอพระนางไหว้ อดีตหอพระประจำเวียงแก้ว พระราชวังสมัยล้านนา
ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับการปรับแบบค่อนข้าง ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรื่องแบบนานพอสมควร และให้กรมศิลปากรได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนที่เสนอเข้าตามแบบที่เสนอไป แนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานที่ขุดค้นพบเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ
ประการแรก ทำอย่างไรไม่ให้สภาพแวดล้อมกระทบกับซากโบราณสถานที่อยู่ใต้ดิน หรือจุดมีการเปิดหลุม รวมไปถึงทำระบบระบายน้ำสูบน้ำ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมสามารถใช้ประโยชน์ได้
ประการที่สอง ต้องดูแลโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลาย โดยพื้นที่ในตัวเมือง ระดับน้ำใต้ดิน ค่อนข้างเป็นอันตรายโบราณสถาน จำเป็นต้องวางระบบสุขภิบาลในการสูบน้ำ จึงไม่สามารถเปิดพื้นที่ โบราณสถานได้ทั้งหมด จึงเลือกเปิดบางส่วน ที่แสดงให้เห็นความสำคัญ มีความสมบูรณ์
แผนการก่อสร้างและงบประมาณ
การปรับแบบ และกรมศิลปากรอนุญาตมีการดำเนินการก่อสร้าง มีการเพิ่มหรือลด ในราคาที่ลงนามหรือไม่ ใช้เวลาพอสมควรคำนวนราคาและเจรจาตกลง เมื่อเรียบร้อยแล้วมีแก้ไขสัญญาแนบท้าย จังหวัดส่งมอบพื้นที่แปลงนี้ให้บริษัทผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามแผนใหม่ตามแบบที่มีการปรับปรุงให้ได้รับความเห็นชอบ จากกรมศิลปากรส่งมอบพื้นที่ผู้รับจ้าง 13 พ.ค.2567 ผู้รับจ้างเริ่ม ดำเนินการถัดจากส่งมอบพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการ 660 วัน สัญญาเสร็จสิ้น 20 ม.ค.2569 จะเห็น "สวนสาธารณะทางประวัติศาสตร์ข่วงหลวงเวียง โดยงบประมาณเดิมเป็นงบประมาณจัดสรรกลางให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้เบิก งบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามสัญญาเป็นเงื่อนไขที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญาในการดำเนินงานแต่ละงวดต่อไป ซึ่งมีทั้งหมด 10 งวด โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งคณะทำงานควบคุมงาน มีสถาปนิกเทศบาลนครเชียงใหม่ วิศวกรสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นายช่างสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทั้งสามคนควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามแผน ถ้าควบคุมไปตามแผนได้งานจะเสร็จ
เวทีการรับฟังความเห็น และการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนคือหัวใจของการออกแบบพื้นที่เวียงแก้วที่ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย
การพัฒนาพื้นที่และอนาคตข่วงเวียงแก้ว
เงื่อนไขสวนสาธารณะเวียงแก้วที่สร้างขึ้นแปลงที่ดินแปลงนี้ เป็นแปลงที่ดินราชพัสดุ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานปลัดจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ กรรมสิทธิ์ที่ดินการดูแลที่ดินแปลงนี้เป็นของสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ หลังสวนสาธารณะแล้วเสร็จ เงื่อนไขการพิจารณาบริหารพื้นที่ มี 2 เงื่อนไขหลัก คือ การดูแลพื้นที่สวนสาธารณะ และการดูแลอาคารเรือนจำ ที่ไม่ได้รับการรื้อถอน 3 อาคาร
จังหวัดเชียงใหม่มีคณะกรรมการ 1 ชุด คือคณะกรรมการข่วงหลวงเวียงแก้ว พิจารณาความเหมาะสมว่าการบริหารพื้นที่ในการดูแลบำรุงรักษาพื้นที่ จะมอบให้หน่วยงานไหนเป็นคนมาดูแลอาจเกี่ยวพันการใช้งบประมาณ รวมถึงการใช้ประโยชน์ทั้งสามอาคาร ซึ่งอนาคตจะต้องวางแผนการบูรณาการ เพราะอาคารดังกล่าวทั้งสามหลังไม่ได้อยุ่ในขอบข่ายสัญญาจะมีการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือ เป็นอาคารเดิม ซึ่งจะต้องวางแผนงบประมาณ เพื่อจะใช้ประโยชน์ควบคู่พร้อมๆกับสวนสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในปี 2569
บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเวียงแก้ว เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 14 พ.ค.67
นอกจากพื้นที่ความสำคัญในฐานะพื้นที่ประวัติศาสตร์ยังเปิดพื้นที่เกือบ 15 ไร่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนทั่วไปสามารถใช้พื้นที่พักผ่อนย่อนใจ ผสมผสานเข้าไประหว่างการพักผ่อนและการเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันคนในเมือง จะเป็นแหล่งเรียนรู้ สำคัญในเมือง ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ ได้ด้วยอีกทางหนึ่ง โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว เป็นที่ดินแปลงใหญ่ของรัฐแปลงสุดท้าย
การเผยการขุดค้นเวียงแก้ว นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในอนาคตจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าขอบเขตเวียงแก้ว ที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนไหน และอีกส่วนสำคัญการขุดค้นพื้นที่พบรากฐาน บนหลักฐานหลายจุดซึ่งสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะต้องขายผลนำมาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ฐานรากส่วนใหนมีความสำคัญอย่างไร เป็นแผนในอนาคตต้องมีการศึกษาทำข้อมูล
ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการอิสระด้านการบริหารจัดการมรดกทางศิลปสถาปัตยกรรม ได้เสนอแนวคิดสวนประวัติศาสตร์สาธารณะ คือเน้นคุณค่าด้านประวัติศาสตร์แก่สาธารณะ ไม่แตกต่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรืออยุธยา คือ การสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ ให้คนเข้ามาสนใจประวัติศาสตร์ มากกว่าการเดินเข้ามาดูเศษอิฐ ที่ไม่ได้สื่อความหมายอะไร แต่ต้องทำสัญลักษณ์เพื่อสื่อให้เห็นว่านี่คือ เสา ฐานราก ของอาคารบางอย่าง
ส่วนอาคารเผยแผ่นดิน คือ ศูนย์ข้อมูลที่จะรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ให้คนมาเรียนรู้ รู้จักเวียงแก้ว เผยแผ่นดิน อยู่นอกกำแพงเวียงแก้ว วันนี้ต้องรักษาโบราณสถานให้อยู่ในสภาพที่ดีไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้
ผมมีโอกาสไปรับราชการที่พิษณุโลก ได้เห็นพระราชวังจันทน์ ผมยังแอบดีใจว่าอย่างน้อย เวียงแก้วน่าจะดีกว่าการใช้ประโยชน์ของพระราชวังจันทน์ เป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ใช่สวนออกกำลังกายเป็นหลัก
สอดคล้องกับเครือข่ายภาคประชาชน นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ และนายวัลลภ นามวงศ์พรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ที่การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นหลังรอบคอยมานานมากกว่า 12 ปี และสวนประวัติศาสตร์แห่งนี้จะเป็นตัวแทนของเมืองบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ในแต่ยุคสมัยและเผยแผ่นดินใจกลางเมืองให้เป็นมรดกทุกคน และยังใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันของเมืองได้ด้วย
รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341824