สสจ.สระแก้ว เข้มเฝ้าระวัง หลังกัมพูชา พบผู้ป่วย "ไข้หวัดนก H5N1" รายที่ 7

สังคม
12 ก.ค. 67
07:54
1,868
Logo Thai PBS
สสจ.สระแก้ว เข้มเฝ้าระวัง หลังกัมพูชา พบผู้ป่วย "ไข้หวัดนก H5N1" รายที่ 7
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลัด สธ. เผย ทุกจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว เข้มเฝ้าระวัง "โรคไข้หวัดนก" ทั้งในคนและสัตว์ หลังกัมพูชาพบผู้ป่วย เป็นรายที่ 7 ของกัมพูชา เป็น "เด็กหญิง อายุ 5 ปี"

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2567นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กรณีกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567 เป็นเด็กหญิงอายุ 5 ปี อาศัยอยู่ จ.ตาแก้ว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 7 ของกัมพูชาในปีนี้

โดยผู้ป่วยอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยรายที่ 6 ซึ่งเป็นน้องชายอายุ 3 ปี ที่ตรวจพบเชื้อก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 รายมีประวัติสัมผัสไก่ที่ป่วยตาย ในหมู่บ้านและครอบครัวนำมาปรุงอาหาร จึงรับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยการสัมผัส

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ป่วยไข้หวัดนกที่พบในกัมพูชาส่วนใหญ่กลุ่มเสี่ยงสูงเป็นเด็ก โดยติดเชื้อถึง 6 ราย และเป็นผู้ใหญ่ 1 ราย ผู้ป่วยทุกคนมีประวัติสัมผัสกับซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ปีกที่กำลังป่วย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดที่มีพรมแดนติดกัมพูชา โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดตาแก้วของกัมพูชา ได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคชายแดนไทยกัมพูชา เข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งโรงพยาบาลในทุกจังหวัดได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น โดยซักประวัติผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปอดอักเสบทุกรายว่ามีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกหรือไม่ โดยเฉพาะปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุและเข้าโรงพยาบาลคราวละหลายคน เพื่อคัดกรองและแยกผู้ป่วยออกทำการรักษาได้ทันท่วงที 

นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับปศุสัตว์จังหวัดในการเฝ้าระวังสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์อื่นหรือคน

สำหรับประชาชนทั่วไป ขอย้ำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หากจำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ต้องสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือเพื่อป้องกัน ที่สำคัญ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปปรุงอาหารหรือให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด

นอกจากนี้ให้หมั่นล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก และหากมีอาการไข้ ไอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ หรือผู้ที่มีอาชีพขนส่ง ชำแหละ ขายสัตว์ปีก หรือเกี่ยวข้องกับซากสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายด้วย 

เกร็ดความรู้ "ไข้หวัดนก"

ไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอที่พบในสัตว์ปีกบางสายพันธุ์

ติดต่อสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วย เช่น สารคัดหลั่งจากสัตว์ อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายสัตว์ป่วย

สำหรับการอาการและความรุนแรง ของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัส และชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ สายพันธุ์ที่มีความสำคัญ คือ H5N1 ซึ่งทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง และตายอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร 

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมักมีอาการ ดังนี้ 

  • มีไข้ ไอ เจ็บคอ 
  • คัดจมูก 
  • ปวดเหมื่อยตัว 
  • ปวดศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย
  • หายใจลำบาก 

มีคำอธิบายเพิ่มเติมจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ว่า ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดรุนแรง คือ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

นอกจากนี้อาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ชักเกร็ง ด้วย โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต นั้นคือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

ป้องกัน "ไข้หวัดนก"

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ให้ข้อแนะนำว่า 

  • เลือก : ร้านที่สะอาด เนื้อสดใหม่ มีมาตรฐาน ปรุงสุก สะอาด 
  • หลีก : เลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยและไม่นำมาทำอาหาร 
  • ล้าง : ล้างมือด้วย "น้ำ" และ "สบู่" โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ปีก  
ย้ำเตือน หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์ 

อ่านข่าว : ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียก! 6 โรคควรระวังช่วง "หน้าฝน"

"อูมามิ" ไม่ใช่แค่อร่อยแต่คือ "ความกลมกล่อม" ของอาหาร

"ไฟดูด" ภัยใกล้ตัว รู้วิธีสังเกต - เอาตัวรอด - ช่วยเหลือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง