ชาวบ้านนับร้อย แห่จับ "ปลาหมอคางดำ-ปลานิล" บึงมักกะสัน

สังคม
15 ก.ค. 67
19:29
4,261
Logo Thai PBS
ชาวบ้านนับร้อย แห่จับ "ปลาหมอคางดำ-ปลานิล" บึงมักกะสัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านนับ 100 คน จับปลาหมอคางดำและปลานิลในบึงมักกะสัน หลังเจ้าหน้าที่ปิดประตูระบายน้ำเพื่อซ่อมบำรุง ทำให้ปลาลอยน็อกน้ำ

วันนี้ (15 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนจำนวนกว่า 100 คน เดินทางมาที่บึงมักกะสัน เพื่อจับปลาที่ลอยน็อกอยู่บนผิวน้ำ

จากการตรวจสอบ พบว่า มีปลาจำนวนมากลอยอยู่บนผิวน้ำภายในบึงมักกะสัน โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งประจำจุดประตูระบายน้ำของบึงมักกะสัน เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางสำนักการระบายน้ำ ได้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลออกจากอาคารควบคุมน้ำออก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมระบบวาล์วน้ำของอาคารดังกล่าว ส่งผลให้ปลาในบึงขาดออกซิเจน จึงลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในชาวบ้านที่มาจับปลา เปิดเผยว่า ตนเองทราบข่าวจากโซเชียลมีเดีย จึงเดินทางมาเพื่อจับปลา เบื้องต้นจับได้กว่า 100 กิโลกรัม ปลาที่ได้มีทั้งปลานิลและปลาหมอคางดำ โดยจะนำไปปรุงอาหารกิน และแจกจ่ายให้กับญาตินำไปขาย ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่พบเหตุการณ์ลักษณะนี้ในพื้นที่

ครั้งแรกพบ "ปลาหมอคางดำ" ในบึงมักกะสัน

ขณะที่นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่เป็นปลานิล และบางส่วนเป็นปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางเขตฯ รู้สึกกังวลใจ จากการสอบถามสำนักระบายน้ำ เบื้องต้นทราบข้อมูลว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้เร่งลดระดับน้ำในบึงมักกะสันเพื่อรองรับฝน ป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงจำนวนมากจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ปลาน็อกน้ำ ซึ่งระดับน้ำได้ลดลงต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รับรู้ว่าพื้นที่นี้มีปลาหมอคางดำอยู่บางส่วน

หลังจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ทั้งกรมประมง การรถไฟสำนักงานเขตราชเทวี และสำนักการระบายน้ำ เพื่อเข้ามาดำเนินการต่อไป ส่วนปลาที่ตายแล้ว ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) ช่วงเวลา 09.00 น. ทางเขตฯ จะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดมาช่วยเก็บออกไปก่อน

สำหรับทิศทางการระบายน้ำของบึงมักกะสันจะมีคูคลองใกล้เคียง เช่น คลองสามเสนที่ระบายน้ำลงบึงมักกะสัน ส่งต่อไปท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนคูคลองจุดอื่นเท่าที่ได้รับรายงาน ขณะนี้ยังไม่มีการพบปลาหมอคางดำ ยกเว้นพื้นที่เขตธนบุรี ซึ่งเป็นจุดแรกที่พบ โดยถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ช่วยกันดูแลและช่วยกันกำจัด

อ่านข่าว : เข้าใจใหม่! ปลากะพงขาวใช้กินลูก ไม่ได้กินปลาหมอคางดำตัวใหญ่ 

กทม.หาทางสกัด "ปลาหมอคางดำ" จ่อลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร 

เปิดรายงานฉบับเต็ม "คณะกรรมการสิทธิฯ" ใครทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด? 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง