เข็นเพลงลุ้น “ลุงป้อม” ครั้งสุดท้าย กลายเป็นจุดไฟขัดแย้งใหม่ใน พปชร.

การเมือง
30 ก.ค. 67
14:25
564
Logo Thai PBS
เข็นเพลงลุ้น “ลุงป้อม” ครั้งสุดท้าย กลายเป็นจุดไฟขัดแย้งใหม่ใน พปชร.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผลจากเพลง “คิดถึงลุงตู่” ที่มียอดวิวเฉียดล้าน ไม่เพียงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมีการเปรียบเทียบด้านเศรษฐกิจค่าครองชีพของผู้ตนเท่านั้น แต่ยังมีผลให้มีเพลงลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นตามมา

ที่ชิงออกมาก่อน 2 เพลง เป็นเพลงเชียร์ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเฉพาะ “ลุงตู่ เริ่มลุงป้อมขอทำต่อ” เพราะตอนนี้ “ลุงตู่” วางมือการเมืองไปแล้ว “ลุงป้อม” จึงขออาสาทำต่อจากที่ “ลุงตู่” เริ่มไว้ อำนวยการผลิตโดยนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม

ด้านหนึ่งคงหวังได้ลุ้นเป็นไวรัลติดหูผู้คนอย่างเพลง “คิดถึงลูงตู่” บ้าง แต่ยังไม่รู้จะหมู่หรือจ่า แต่อีกด้านหนึ่ง ปรากฏว่าโดน “งานเข้า” โดยคนกันเองในพรรคพลังประชารัฐ

สาเหตุอาจเป็นเพราะไปสร้างความไม่พอใจให้กับ สส.ในพรรค เพราะเข้าข่ายทำเพื่อเอาใจ “ลุงป้อม” แบบโจ่งแจ้งชัดเจน ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งหรือเป็น สส.ของพรรค ไม่พอ ยังมีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อีกต่างหาก ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน จึงถูกกล่าวหาหวังโหนกระแส “ลุงตู่” เป็นการทำเพลงส่วนตัว แต่กรรมการบริหารพรรคไม่รู้เรื่องด้วย ดังที่นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พูดถึงเรื่องนี้

ก่อนจะมีเสียงขานรับจาก สส.ในไลน์กลุ่มว่า สร้างความปั่นป่วนในพรรค และจะไม่ยอมเดินตามหรือปล่อยให้บุคคลภายนอกมาชักจูงพรรค ส่อเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นนำไปฟ้องกับ “ลุงป้อม”

ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากนายสามารถเคลมว่า ตนเป็นคนติดต่อทาบทามนายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.เพื่อไทย ที่เจอปัญหาถูกกดดันรุมเร้าในพรรคเพื่อไทย ให้ย้ายมาร่วมงาน และได้เข้าพบ “ลุงป้อม” รวมทั้งสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้พ่อ ที่เข้าพบ “ลุงป้อม” และแสดงท่าทีต้องการเข้าพรรคพลังประชารัฐอีกคน แต่รอให้พรรคเพื่อไทยขับออกเสียก่อน

สะท้อนเป็นนัยว่า การเข้าพรรคพลังประชารัฐ ของพ่อลูกตระกูลอยู่บำรุง อาจสร้างความไม่พอใจในทีให้กับคนในพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีการวิพากษ์คนนอกที่เป็น สส.สอบตกด้วย

จากเดิมที่พรรคมีปัญหาภายใน เรื่องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 2 ก๊วนก่อนหน้านี้แล้ว และส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯพรรค ที่ตอนหลังมักไปปรากฎตัวข้างนายทักษิณ ชินวัตร มาตลอด และถูกคาดหมายว่า เลือกตั้งครั้งหน้า จะย้ายไปพรรคเพื่อไทย

การได้นายวัน และอาจรวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม มาอยู่เคียงข้างและคอยให้คำปรึกษา “ลุงป้อม” ย่อมจะมีผลอย่างอื่นตามมา อาทิ เป็นเปิดบทบาท 2 พ่อลูก ประเดิมจากให้นายวันดูแลสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ แทนนายสกลธี ภัททิยกุล ที่เพิ่งลาออกจากพรรค และ “ลุงป้อม” มีแค้นฝังหุ่นที่ต้องมีการสะสางกับนายทักษิณ จึงเชื่อว่า ต้องใช้บริการ ร.ต.อ.เฉลิม อย่างแน่นอน ยังไม่นับการแย่งชิงเป็นคน “วงใน” เพราะอาจได้อานิสงส์ เรื่อง “ใจถึงมือเติบ” ของลุงป้อมด้วย

ขณะที่สไตล์การทำงานของนายสามารถ ต่างจากคนอื่นในพรรคเป็นทุนอยู่ก่อน อาทิ การสร้างบทบาทหรือทำตัวเองให้เป็นข่าว ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็เคยตกเป็นข่าว ถูกร้องเรียนส่งลูกน้องไปเรียน และสอบหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนต้องประกาศลาออกจากผู้ช่วยรัฐมนตรี เมื่อกลางปี 2565 ก่อนจะโพสต์ข้อความ ระบุผลการสอบวินัยนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้ยุติเรื่อง พร้อมระบุผ้าขาวแต้มสีดำอย่างไรก็เป็นสีขาว

ที่น่าสนใจคือ “ลุงป้อม” จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะด้านหนึ่งก็เป็น สส.ในกลุ่มเลขาฯคู่บารมี อีกด้านหนึ่งเป็นลูกน้องที่ต้องการโปรโมทนายทำความดีความชอบ

ที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังต้องลุ้น 14 ส.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องสอยนายเศรษฐาจากตำแหน่งนายกฯ “ลุงป้อม” ก็ยังมีความหวังลึกๆ สำหรับถนนสายการเมือง เผื่อจับพลัดจับผลูถึงคิวพรรคพลังประชารัฐ แม้จะเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นรถขึ้นภูเขาในมุมมองกูรูทางการเมือง

สะท้อนดวง”ลุงป้อม”ตอนนี้ น่าจะไม่ดีเอาเสียเลย

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง