เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2567 ภาพของฝูงปลาหมอคางดำที่รวมกลุ่มอยู่ในลำคลองริมถนนตั้งแต่สี่แยกรับแพรก อ.ระโนด จ.สงขลา ไปจนถึง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน บ่งชี้ว่าปลาหมอคางดำ ได้เข้ายึดครองพื้นที่ แหล่งน้ำธรรมชาติ แทนสัตว์พื้นถิ่นแล้ว
เจ้าหน้าที่ประมง ระบุว่าในพื้นที่ อ.ระโนด มีการระบาดของปลาหมอคางดำใน 7 ตำบล ซึ่งมีลำคลองที่เชื่อมต่อกัน และมีหลายจุดที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านบอกว่าพบเห็นปลาหมอคางดำจนชินตา แต่ชาวบ้านไม่ได้ทอดแหนำปลาหมอคางดำขึ้นมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากไม่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร
ขณะที่หลายภาคส่วนใน จ.สงขลา เตรียมจะเปิดปฏิบัติการรวมพลพรานล่าปลาหมอคางดำในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ในพื้นที่คลองระโนดตลอดสาย ชิงเงินรางวัล 20,000 บาท และเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้าน ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท
โดยประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้เร่งรัดกำจัดปลาหมอคางดำออกไปโดยเร็วเพราะใกล้เข้าสู่ฤดูฝน เกรงจะระบาดลงสู่ทะเลสาบสงขลา และอำเภออื่นๆ เนื่องจากขณะนี้ อ.ระโนด ถือเป็นอำเภอแรกของสงขลา ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ แต่หากไม่สามารถกำจัดได้ ก็จะทำให้เกิดการระบาดไปสู่ทะเลสาบสงขลา รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบวงกว้างมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะระบาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ชาวสมุทรสาคร จับ "ปลาหมอคางดำ" ศาลพันท้ายนรสิงห์
วันนี้ (4 ส.ค.2567) ที่บริเวณหน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดสมุทรสาคร และชาวประมงพื้นบ้าน ต้องใช้อุปกรณ์อวนล้อมจับปลาหมอคางดำ ที่อยู่ภายในคลองขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณหน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นอีกหนึ่งจุดที่สะท้อนปัญหาว่า ปลาหมอคางดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนนำอาหารมาให้ปลา แม้จะทราบว่าปลาที่ให้อาหาร คือ ปลาหมอคางดำ
การล้อมจับปลาหมอคางดำ ใช้อุปกรณ์เป็นอวนล้อม 3 จุด บริเวณโดยรอบศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งปลาที่จับได้จะนำไปขาย และอีกส่วนหนึ่ง จะนำมาปรุงเป็นอาหาร และแปรรูปแจกจ่ายให้กับประชาชน
ขณะที่ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เตรียมปล่อยปลากะพงขาว อีก 5,000 ตัว หลังจับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ขึ้นมาได้ เพื่อลดการเจริญพันธุ์ของลูกปลาหมอคางดำ
เสียงสะท้อนรับซื้อปลาหมอคางดำไม่ถึง 15 บาท
3 วันของการดำเนินโครงการ 73 จุด ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศที่พบการระบาด มีการรับซื้อไปแล้วกว่า 22,000 กิโลกรัม แต่ก็มีเสียงบ่นให้สับสนตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ว่าทำไมราคาไม่ถึง 15 บาท
สมุทรสาคร เป็นพื้นที่แรก ๆ ใน 17 จังหวัด ที่พบการระบาดและเริ่มเปิดจุดรับซื้อนำร่องก่อน ทั้งจังหวัดตั้งเป้าซื้อไว้ที่วันละ 2,000 กก. (2ตัน) ถ้าได้ราคากิโลกรัมละ 15 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ แต่พอเอาเข้าจริง เกษตรกรขนปลาไปขายถึงแพรับซื้อในวันดีเดย์ 1 ส.ค. กลับไม่ได้ราคาอย่างที่เข้าใจ เกษตรกรที่นำปลาหมอคางดำมาขายก่อนหน้า ได้ไม่ถึง กก.ละ 15 บาท แต่จำใจขาย เพราะติดเงื่อนไขการลงทะเบียนที่รัฐกำหนดไว้ ต้องใช้ทั้งคลิปยืนยันจุดจับ ถ้าจับจากบ่อเลี้ยงก็ต้องมีใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องออกมาแก้ไขและย้ำอีกครั้ง
ไม่ว่าใครจับขาย ก็ได้กิโลกรัมละ 15 บาทแน่นอน ไม่มีเงื่อนไข
หลักฐานที่ใช้ยืนยันกับแพรับซื้อ ก็เหลือแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
คนจับปลาหมอคางดำมาขาย การันตีกว่าได้กิโลกรัมละ 15 บาทแน่นอน แล้วถามว่าแพรับซื้อ จะได้อะไร คำตอบคือ แพรวบรวมจะได้ 5 บาทจากการรับซื้อ (ซื้อ 15 ขายให้รัฐได้ กก.ละ 20 บาท) เอาปลาไปส่ง แต่ต้องรอ 15 วัน แพปลาถึงจะได้เงินจากรัฐ ระยะเวลาครึ่งเดือน กว่าแพจะได้เงิน ก่อนหน้านี้ก็เคยได้ยืนเสียงบ่นเหมือนกัน ว่าช้าไป แพบางส่วน มีทุนหน่อยบอกว่า พอรับได้ ถือว่าช่วงนี้ช่วย ๆ กันไปก่อน เป็นแรงจูงใจให้คนล่าปลาหมอให้ออกจากระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายระหว่างทางที่รวบรวมปลาไปขาย เป็นสิ่งที่แพรับซื้อหลาย ๆ แห่งกังวล
ยกตัวอย่าง ที่สมุทรสาคร จุดรับซื้อปลาหมอคางดำหลักเพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพที่อยู่ที่กาญจนบุรี แพปลา 2 เจ้าให้ข้อมูลตรงกันบอกว่าจะต้องรวบรวมปลาหมอคางดำให้ได้อย่างน้อย 2-3 ตันไปส่งให้ทันตามรอบของโรงงาน นอกจากทุนซื้อปลาที่จ่ายก่อน ยังมีค่าบริหารจัดการปลาหมอคางดำซึ่งเน่าไว ต้องอัดน้ำแข็ง หรือดองปลา ยังมีค่าแรงคนงาน ค่าน้ำมันรถขนส่ง จึงมองว่า ส่วนต่างที่แพได้รับกิโลกรัมละ 5 บาท ไม่คุ้ม
ทั้งทุนที่ต้องสำรองก่อนและระยะเวลากว่าจะได้เงิน แพเล็ก ๆ สายป่านสั้นไม่ไหว ทุนน้อยแบกรับไม่ไหว ต้องชะลอการรับซื้อ หรือ ล่าสุดแพรับซื้อ จ.สมุทรสาคร จากขอถอนตัวออกจากโครงการแล้ว 6 จากทั้งหมด 10 ราย และถ้าแพถอนตัวออกอีก ปัญหาจะวนกลับมาที่เกษตรกร จับปลามาแล้วไม่มีที่ขาย หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แพปลาต้องแบกรับ ทำให้การรับซื้อปลากิโลกรัมละ 15 บาทอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา
อ่านข่าวอื่น :