วันนี้( 6 ส.ค.2567) ทีมBig Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย ผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ภายใต้ โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ
โดยรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงาน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. ปี 2567 (ไตรมาส 2 ปี 2567) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) พบว่ามีการประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 238,129 ตำแหน่ง ซึ่งพบว่า มีประกาศรับสมัครงานที่ต้องการทักษะด้าน AI จำนวน 4,276 ตำแหน่ง หรือ 1.8% ของจำนวนการประกาศรับสมัครงานในเว็บไซต์ออนไลน์ทั้งหมด
โดยได้กำหนดทักษะด้าน AI ไว้ในประกาศรับสมัครงาน เช่น Artificial intelligence, ChatGPT, Chatbot, Artificial Neural Networks, Deep Learning, Feature Engineering และLanguage Model
ขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะ AI มากสุดใน 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 483 ตำแหน่ง ,อุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย 398 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมการกิจกรรม การบริหาร และบริการสนับสนุน 394 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกันพบว่า กลุ่มอาชีพ 3 อันดับแรกที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุด ประกอบด้วย งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 1,098 ตำแหน่ง ,งานด้านการจัดการ 906 ตำแหน่ง และ งานธุรกิจและการเงิน 584 ตำแหน่ง
ทีมวิเคราะห์ยังเผยอีกว่า อุตสาหกรรมค้าส่ง-ปลีกยังครองแชมป์ประกาศรับสมัครงานมากที่สุด มีจำนวนประกาศรับสมัครงาน 51,698 ตำแหน่ง หรือ22% รองลงมาเป็น ภาคการผลิต 35,270 ตำแหน่ง หรือ15.0% อันดับ 3 เป็นภาค การบริหาร และบริการสนับสนุน 23,509 ตำแหน่ง หรือ 10% นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 18,270 ตำแหน่ง และธุรกิจที่พัก และบริการอาหาร 17,497 ตำแหน่ง
ส่วนภาคการการเงิน และการประกันภัย , อสังหาริมทรัพย์ , ข้อมูลข่าวสาร และการ, การก่อสร้าง และ การขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม 3 กลุ่มอาชีพเนื้อหอมที่ทุกอุตสาหกรรมต้องการ คือ งานด้านการขาย , งานสนับสนุนออฟฟิศและงานธุรการ และ งานด้านการจัดการ แต่ทั้งนี้ 5 ทักษะ ที่นายจ้างต้องการ คือ สมรรถภาพทางกาย เช่น การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ความคิดริเริ่มความเป็นผู้นำ และทักษะทางสังคม , ทักษะด้านธุรกิจ เช่น การบริหารโครงการ การจัดการธุรกิจ และการจัดการบุคลากร
ทักษะด้านสื่อและการสื่อสาร เช่น ความสามารถทางภาษา การเขียนและการแก้งานเขียน และการสื่อสาร ,ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ภาษา Scripting และการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ ทักษะด้านการเงิน 62,575 ตำแหน่ง (26.3%) เช่น บัญชีทั่วไป การบริหารงบประมาณ และการเงินทั่วไป
ทีดีอาร์ไอหวังว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษา และสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
อ่านข่าว:
Temu "สึนามิ"อีคอมเมิร์ซ รุกคืบกินเรียบสินค้าไทย
"ราคาทอง" ลบ 50 บาท ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,673บาท
ทีทีบี ชี้ “ค่าเงินบาท” ผันผวนหนัก ทั้งปีเฉลี่ย 35-36 บาท/ดอลลาร์