ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลุยกวาดล้างสินค้า "ราคาถูก -ไม่มีมอก." พณ.หวั่นกระทบผู้ค้าไทย

เศรษฐกิจ
8 ส.ค. 67
17:32
572
Logo Thai PBS
ลุยกวาดล้างสินค้า "ราคาถูก -ไม่มีมอก." พณ.หวั่นกระทบผู้ค้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาณิชย์เร่งสกัดสินค้านำเข้าราคาถูก ไม่มีมอก.จำหน่ายไทย "ออฟไลน์- ออนไลน์" เตรียมลุยปูพรมตรวจสอบสินค้าเร็วๆนี้ พร้อมงัดกฎหมายทุกฉบับเล่นงาน ส่วนออนไลน์ หามาตรการสกัดเพิ่ม

วันนี้ (8 ส.ค.2567) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีแพลตฟอร์มจีนเข้ามาเปิดขายสินค้าผ่านออนไลน์อย่างแอปพิเคชั่น Temu (เทมู) ที่ขายสินค้าราคาถูกที่ผ่านตรงจากโรงงาน ส่งผลกระทบกับสินค้าไทย และผู้ประกอบการไทย

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ , กรมศุลกากร กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

หารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วนตามที่ภาคเอกชนได้ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือกรณีมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกเข้ามาจำหน่ายในไทย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ จนกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศและผู้บริโภค

ปลัดพาณิชย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา แบ่งสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในไทยออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ออฟไลน์และออนไลน์ โดยออฟไลน์ กระทรวงจะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่วางขายในไทย ทำถูกต้องตามกฎหมายไทยหรือไม่

เบื้องต้น พบว่า ร้านค้าในแหล่งที่มีคนต่างชาติอยู่มาก คนขายไม่ใช่คนไทย ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศ ไม่มีใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล รวมทั้งจะตรวจสอบว่าสินค้านำเข้ามีคุณภาพ มาตรฐาน และไม่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่

หากพบความไม่ถูกต้อง จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการ อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ส่วนระยะกลางและยาว ก็ต้องมาดูว่าต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใด ๆ บ้าง เพื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

ส่วนการจำหน่ายทางออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร จัดส่งสินค้า 10 อันดับแรก ที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อทางออนไลน์ เพื่อตรวจสอบดูว่าสินค้านั้น เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นสินค้าทดแทน หรือเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้า รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ให้บริการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในไทย กฎหมายไทยจะดำเนินการใด ๆ ได้บ้าง

เช่น กำหนดให้ต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในไทย หรือต้องจดแจ้งใด ๆ หรือไม่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งว่า ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.2565 มาตรา 18 (2) และ (3) กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย

แต่มีลูกค้าในไทย หรือมีความเสี่ยงต่อการเงิน การพาณิชย์ หรืออาจกระทบ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณะชน ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ด้วย รวมทั้งจะพิจารณาดูว่าจะมีมาตรการอะไรมาดำเนินการเพิ่มเติมได้อีก

นอกเหนือจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออกไลน์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรก ที่คลังได้จัดเก็บไปแล้ว

อ่านข่าว : Temu "สึนามิ"อีคอมเมิร์ซ รุกคืบกินเรียบสินค้าไทย

"นอมินี" รุกกวาดเศรษฐกิจไทย เอเลียนสปีชีส์ ยึดพื้นที่ท่องเที่ยว

ถอดบทเรียน "สินค้าจีน" รุกตลาดทะลักไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง