วันนี้ (11 ส.ค.2567) การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ "ปารีส 2024" ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาลงชิงชัยรวม 4 คน ลงแข่งขันไปแล้ว 3 คน สร้างผลงานยอดเยี่ยม คว้า 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
โดย 2 เหรียญเงินได้จาก "ฟ่าง" ธีรพงศ์ ศิลาชัย รุ่น 61 กิโลกรัมชาย, "เวฟ" วีรพล วิชุมา รุ่น 73 กิโลกรัมชาย และ 1 เหรียญทองแดง จาก "ออย" สุรจนา คำเบ้า รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง
สรุปผลงานทีมยกน้ำหนักไทยส่งชิงชัย 4 คน คว้ามาได้ 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ยอดเงินอัดฉีดทะลุ 35.82 ล้านบาท
ล่าสุด ทีมยกน้ำหนักไทยได้ลุ้นเหรียญส่งท้าย จาก "ส้ม" ดวงอักษร ใจดี รุ่นมากกว่า 81 กิโลกรัมหญิง ซึ่งลงแข่งขันในวันนี้ ( 11 ส.ค.67) ตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 27 ปีบริบูรณ์ของเจ้าตัว รวมทั้งยังเป็นนักกีฬาไทยคนสุดท้ายที่จะลงชิงชัยใน ปารีส 2024ด้วย โดย "ดวงอักษร" แบกน้ำหนักสู้สุดใจ จบอันดับ 6 รุ่นมากกว่า 81 กิโลกรัมหญิง ส่งท้ายโอลิมปิก ปารีส 2024
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
สำหรับ "ดวงอักษร" เคยทำผลงานยอดเยี่ยมด้วยการคว้า 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2564 ที่ประเทศอุซเบกิซสถาน, 3 เหรียญทองแดง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2565 ที่ประเทศโคลอมเบีย และเหรียญทองแดง 2 สมัยซ้อน จาก เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย,ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
ขณะที่คู่แข่งสำคัญในรุ่นนี้ นำโดย หลี่ เหวินเหวิน จากจีน เจ้าของสถิติโลก 3 ท่า ท่าสแนทช์ 148 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 187 กิโลกรัม, น้ำหนักรวม 335 กิโลกรัม รวมทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติโอลิมปิกและเหรียญทองโอลิมปิก โตเกียว 2020 ซึ่งครั้งนั้นแข่งขันรุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง ท่าสแนทช์ 140 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 180 กิโลกรัม, น้ำหนักรวม 320 กิโลกรัม
นอกจากนั้น ยังมี ปาร์ค ฮเยจอง จากเกาหลีใต้ ดีกรี 3 เหรียญทอง รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ประจำปี 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และ เอมิลี แคมป์เบลล์ จากสหราชอาณาจักร เจ้าของเหรียญเงิน โอลิมปิกโตเกียว 2020รุ่นมากกว่า 87 กิโลกรัมหญิง
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
ท่าสแนทช์ ดวงอักษร ซึ่งมีรูปร่างเป็นรองนักกีฬาคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เรียกเหล็กครั้งแรก 120 กิโลกรัม แต่จังหวะดันเหล็กทำได้ไม่ดี ยกไม่ผ่าน ต่อมาครั้งที่ 2 เรียกเหล็กที่น้ำหนักเดิม แต่ยังแก้ตัวไม่สำเร็จ ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จ ในครั้งที่ 3 ที่น้ำหนักเดิม สถิติอยู่ที่ 120 กิโลกรัม จบที่ 5 ขณะที่ อันดับ 1 หลี่ เหวินเหวิน จากจีน ยกได้ 136 กิโลกรัม, อันดับ 2 ปาร์ค ฮเยจอง จากเกาหลีใต้ 131 กิโลกรัม, อันดับ 3 เอมิลี แคมป์เบลล์ จากสหราชอาณาจักร 126 กิโลกรัม
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ดวงอักษร ออกมาสู้เต็มที่ ครั้งแรกยกผ่านที่ 152 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 156 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน ครั้งที่ 3 ขยับน้ำหนักไปอยู่ที่ 160 กิโลกรัม แต่จังหวะดันแขนล็อกแขนไม่อยู่ จนเหล็กตกหลัง จบสถิติ 152 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักรวมอยู่ที่ 272 กิโลกรัม จบอันดับ 6 ส่วน เหรียญทอง หลี่ เหวินเหวิน จากจีน 309 กิโลกรัม (136-173), อันดับ 2 ปาร์ค ฮเยจอง จากเกาหลีใต้ 299 กิโลกรัม (131-168), อันดับ 3 เอมิลี แคมป์เบลล์ จากสหราชอาณาจักร 288 กิโลกรัม (126-162)
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
ทั้งนี้ "เสธ.ยอด" พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย "มาดามบุษ" นางบุษบา ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษาฯ, นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมฯ, พลเอก วิสุทธิ์ เดชสกุล เลขาธิการสมาคมฯ, พลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ กรรมการและประธานฝ่ายเทคนิค, นายสมโภชน์ ยิ้มพลอย กรรมการและประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึง
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะ กรรมการบริหารสหพันธ์ยกน้ำหนักแห่งเอเชีย ได้ร่วมชมการแข่งขันติดขอบสนามด้วย
นอกจากนี้ ที่ศูนย์ฝึกกีฬายกน้ำหนัก ภายในกองพันพัฒนาที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยได้ร่วมชมการถ่ายทอดสดส่งกำลังใจให้ทัพจอมพลังไทย เช่นเดียวกับครอบครัวของ ดวงอักษร ที่รวมตัวกันเชียร์อยู่ที่บ้านเกิด ต.ไพศาลี อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ด้วย
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
สรุปผลงานจอมพลังไทยใน ปารีส 2024 ส่งชิงชัย 4 คน คว้ารวมทั้งหมด 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
สำหรับเงินรางวัลจากการคว้าเหรียญเงินของทัพยกน้ำหนักไทย มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 ล้านบาท, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท และ บริษัท สมุนไพรไทย หงส์ไทย จำกัด 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 13.3 ล้านบาท
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
ส่วนเงินรางวัลจากการคว้าเหรียญทองแดงของทัพยกน้ำหนักไทย มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 4.8 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 1.92 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2 ล้านบาท, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3 แสนบาท และ บริษัท สมุนไพรไทย หงส์ไทย จำกัด 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 9.22 ล้านบาท
สรุปยอดรวมอัดฉีดทัพจอมพลังไทยขณะนี้อยู่ที่ 35.82 ล้านบาท (2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง)
สำหรับคณะนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย จะเดินทางกลับถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ด้วยสายการบิน การบินไทย เที่ยวบิน TG931 เวลา 05.50 น. หลังจากเสร็จพิธีต้อนรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ
เครดิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ กกท.
คณะนักกีฬายกน้ำหนักจะเดินทางไปยัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานใหญ่ (บางกรวย) ผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ต่อด้วย เวลา 15.30 น. จะมีพิธีต้อนรับ แสดงความยินดี และมอบเงินรางวัลอัดฉีดจาก กฟผ. ที่ห้องประชุมเกษม จาติกวณิช โดยมอบเหรียญทองละ 5 ล้านบาท, เหรียญเงิน 3 ล้านบาท, เหรียญทองแดง 2 ล้านบาท
อ่านข่าว:
สรุปเหรียญโอลิมปิก 2024 วันที่ 11 ส.ค.67 "จีน" แซงสหรัฐฯ ได้ 39 เหรียญทอง