ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่องข้อห้ามรธน."4 นักการเมือง"จ่อโทษประหาร ฝืนจริยธรรมร้ายแรง

การเมือง
22 ส.ค. 67
18:31
4,083
Logo Thai PBS
ส่องข้อห้ามรธน."4 นักการเมือง"จ่อโทษประหาร ฝืนจริยธรรมร้ายแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อีกไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ หลังจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ส่งรายชื่อครม.ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ คาดการณ์ว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลใหม่จะเริ่มเดินหน้าทำงานได้

ถือเป็นครั้งแรกในตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ตกม้าตายซ้ำรอย "เศรษฐา ทวีสิน" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" มาเป็นรัฐมนตรี ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก่อนที่ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 จะปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบ ตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้ ระหว่างนี้ แม้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อ คณะรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 36 คนมาทำหน้าที่แล้วก็ตาม

แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 160 กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนนำรายชื่อทูลเกล้าฯ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นำครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

หากส่องคุณสมบัติ ตามโผครม.แพทองธาร ที่มีการเสนอชื่อในรอบนี้ พบว่า มีหลายคนที่ยังมีปัญหา และบางคนยอมสละโควตา ตัวเอง แต่ได้ผลักดันคนใกล้ให้เข้ามารับตำแหน่งแทน โดยในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เสนอไป 3 รายชื่อ คือ "อัครา พรหมเผ่า" อดีตนายกอบจ.พะเยา น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส ในกรณีที่คุณสมบัติ ร.อ.ธรรมนัส มีปัญหา, อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

แม้ล่าสุด"พลังประชารัฐ"จะออกแถลงการณ์กลับส่ง 4 รายรัฐมนตรีเดิม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทส., ร.อ.ธรรมนัส รมว.เกษตรและสหกรณ์, อรรถกร รมช.เกษตร และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

อ่านข่าว “จุลพงศ์” ตั้งคำถามจริยธรรมตุลาการศาล รธน.ปมเสียดสีก้าวไกล

แต่ทั้ง "สันติ" และ "ร.อ.ธรรมนัส" ก็เหมือนทราบอนาคตล่วงหน้า โดยเฉพาะ "สันติ" ที่ส่ง "วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์" ภรรยามายืนเคียงข้างวันแถลง "หักดิบ" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯที่เหลือสส.ในสังกัดไม่ถึง 10 คน ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ตั้งการ์ดสูงป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง ส่งชื่อ "อัครา-นฤมล-อรรถกร" ให้เพื่อไทย โดยได้แจ้งกับ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปแล้ว ว่า "ยอมถอย" ออกไปก่อน หากคุณสมบัติไม่ผ่าน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเจาะคุณสมบัติรายบุคคล ของผู้ที่คาดว่าจะถูกเสนอเป็นเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ พบว่า หลายคน มีปัญหาจะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องคุณสมบัติด้านการศึกษา, ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และการไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

และถือเป็นประเด็นร้ายแรงที่อาจทำให้ถูกสอยร่วมในภายหลัง และพ่วงไปด้วยการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของแถม โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ พบว่ามี 2 รายชื่อ ซึ่งถูกปูดเรื่องคุณสมบัติ คือ "สันติ-ธรรมนัส"

อ่านข่าว เปิดโผ ครม.ล่าสุด (15.00 น.) "หมอพรหมินทร์" ส่งกฤษฎีกาตรวจคุณสมบัติเข้ม

สำหรับ "สันติ" ก่อนหน้านี้ ถูกมือมืดส่งเอกสารให้พรรคเพื่อไทยตรวจเข้ม "จริยธรรม" และมีการส่งเอกสารว่อนเน็ต ว่า เคยทุจริตการสอบ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาทันทีในปี 2542 เนื่องจากสาเหตุปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษาให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทน และใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อปี 2542 ซึ่ง นายสันติ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว เมื่อถูกนักข่าวถามว่า มั่นใจในคุณสมบัติของตนเองหรือไม่

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากในอดีตเคยติดคุกข้อหาลักลอบขนเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม เข้าประเทศออสเตรเลียมาก่อน การเคยต้องโทษคดีอาญา แม้เหตุไม่ได้เกิดในไทยก็ตาม ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคาลามัส อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งตามข้อมูลแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ได้ถูกรับรองอย่างถูกต้อง แต่ ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงว่า ข้อมูลในเว็บไซต์มีความคลาดเคลื่อน เพราะเขาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านข่าว "เดชอิศม์" รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล ยัน ปชป.ไม่แตก ยึดมติพรรค

ย้ายฟากมาที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ หากได้รับเทียบเชิญ จากพรรคเพื่อไทย คาดว่า จะมีการเสนอชื่อ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเก้าอี้ รมว.ทส. และ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาพรรคประชาธิปัตย์ เป็น รมช.สธ. แต่หากพลิกคุณสมบัติตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรม อาจพบว่ามีปัญหาเช่นกัน

โดย "เฉลิมชัย" มีชื่อคนใกล้ชิด และเลขาส่วนตัว เข้าไปมีชื่อเกี่ยวข้องในคดีหมูเถื่อน ขณะที่ "เดชอิศม์" พบว่า มีความมักคุ้นกับ "เตียว ฮุยฮวด" หรือ "โทนี่ เตียว" ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน ซึ่งเพิ่งถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน

เดชอิศม์ และเคยให้สัมภาษณ์เพจ "สงขลาโฟกัส – SongkhlaFocus" เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ปฏิเสธว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือมีการทำธุรกิจร่วมกัน แต่ทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียว

ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ส่งชื่อ "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" เลขาธิการพรรคฯ เข้าประกวดชิงเก้าอี้รมว.อุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้มีการทักท้วงว่า อาจขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยถูกศาลสั่งจำคุก ในคดีเคลื่อนไหวกับ กปปส.นั้น มีการยืนยันว่า คดีดังกล่าวจบแล้ว เนื่องจากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง จึงทำให้ไม่ขัดคุณสมบัติ

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน (มาตรา 158 วรรคแรก) และรัฐธรรมนูญจึงกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 160

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(4) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ทั่วไปครั้งแรก
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องมีเหตุมัวหมองและไม่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181) หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตาม (1)-(18)

เช่น เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง, เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี, เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในการของรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อ่านข่าว

พรรคประชาชาติ ส่งชื่อเดียว "พ.ต.อ.ทวี" ร่วม ครม.แพทองธาร

เปิดกรุ "เศรษฐา" หลังพ้น รมว.คลัง รวย 1,018 ล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง