- "อ.อ๊อด" ชี้เมทานอลผสมเหล้าเถื่อนต้นทุนต่ำ ยันดื่มไม่ได้-เสี่ยงตาย
- เปิดชื่อ 79 นักกีฬาพาราลิมปิกไทย ร่วมสู้ศึกปารีสเกมส์ 2024
"ยาดอง" ไม่ใช่เครื่องดื่มหน้าใหม่ในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ไปจนถึงนักดวดรุ่นลายคราม หรือที่เรียก "สิงห์ยาดอง" ซึ่งหลายคนมักมี "เรื่องเล่าขาน" บอกต่อเป็นประวัติยาวนาน ก่อนเข้าสู่วงการ "จักรวาลยาดอง" และมีการใช้ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก จุดประสงค์หลัก ๆ ก็เพื่อบำรุงร่างกายให้ กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวย คลายอาการปวดเนื้อปวดตัว
ประวัติศาสตร์ยาดองในประเทศไทยและจีน การดองสมุนไพรในเหล้าหรือสุรา เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีโบราณ มักใช้เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยในการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ทั้งไทยและจีนแผนโบราณ สมุนไพรไทยที่นิยมใช้ ได้แก่ ม้ากระทืบโรง สาวร้อยผัว โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น
ภาพประกอบข่าว
ส่วนเกาหลี ยาดองที่รู้จักกันในนาม "โซจู (Soju)" เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่น มักใช้ผลไม้หรือสมุนไพรมาดองเพื่อเพิ่มคุณค่าและรสชาติ โซจู ไม่นับเป็นเครื่องดื่มทางการรักษา แต่เป็นเครื่องดื่มที่บ่งบอกถึงความสำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น เช่นเดียวกับ "โยเมชู (Yomeishu)" และ เหล้าบ๊วยที่รู้จักกันดีในนามของฝาก "อุเมชู (Umeshu)" ก็ถือเป็นยาดองที่เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและพิธีกรรมที่มีคุณค่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ส่วนยาดองในยุโรปนั้น ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่ากับในเอเชีย แต่ยังพอได้เห็นการใช้สมุนไพรมาผลิตเหล้าที่มีคุณสมบัติทางยาอยู่บ้าง
ยาดอง เป็น "ยา" หรือไม่ ?
พท.ป.ชนทัต อังกนะภัทรขจร (แพทย์แผนไทยประยุกต์) หรือ "หมอขลุ่ย" คลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทยให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ไว้ว่า "ยาดอง" นับเป็น "ยา" สำหรับการรักษาแผนไทย
ยาดอง ชื่อก็บอกว่า ยา แปลว่าต้องไม่สบายแล้วจึงเข้ารับการรักษา
ในหลักสูตรการดองยาตามหลักแพทย์แผนไทย จะใช้ "เครื่องยา" ดองกับน้ำ 4 อย่าง ได้แก่ เหล้า, น้ำผึ้ง, น้ำมะกรูด และ น้ำเกลือ ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้กันมามากกว่าพันปีแล้ว ในไทยจะยึดตามสูตรในคัมภีร์แพทย์แผนไทย สมุฏฐานโรค และ คัมภีร์กระษัย ไม่มีการดัดแปลงสูตรการทำยาดองแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าร่างกายหรือธาตุหลัก ธาตุรองของผู้เข้ารับการรักษาเป็นแบบใด แล้วจึงปรุงยาดองให้เข้ากับผู้ไข้ผู้นั้น
ถ้าพื้นฐานคนไข้เป็นคนธาตุไฟ การปรุงยาดองเพื่อรักษาก็ต้องเลี่ยงการใช้เหล้า และสมุนไพรฤทธิ์ร้อน ต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมะกรูดที่มีรสเปรี้ยว และสมุนไพรฤทธิ์เย็น ดองยาให้แทน
เตือนสายก๊ง "ยาดอง" อย่ากินเอาเมา
เมื่อกล่าวถึง "ยาดอง" หลายคนมักคิดถึงโหลแก้วที่มีฝาปิดเป็นผ้าสีแดงผูกเป็นจุก ตัวโหลแปะกระดาษเขียนชื่อสมุนไพรที่นำมาดองกับเหล้าต่าง ๆ วางเรียงรายตาม "ซุ้มยาดอง" พท.ป.ชนทัต กล่าวว่า นั่นเป็นยาดองที่ไม่ใช่ยาดองจริง ๆ เพราะสูตรทำยาดองต้องไม่ใช้สมุนไพรเพียงแค่ 1 ชนิดแล้วดองกับเหล้า
การใช้สมุนไพรชนิดเดียวนำมาดอง ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ตามสูตรการดองยา เพราะฤทธิ์ของสมุนไพรเดี่ยว ๆ นั้นแรง ต้องใช้สมุนไพรตัวอื่นมาช่วย ทั้งเสริมฤทธิ์หรือลดทอนฤทธิ์กัน ไม่ให้ส่งผลเสียกับร่างกายผู้ใช้
ในอดีตเคยมีการใช้ "ดี" ของสัตว์มาดองเป็นยา แต่ปัจจุบันต้องบอกว่าแทบไม่เจอสูตรยาดองจากดีสัตว์ที่ใช้เป็นยาแล้ว เพราะผู้รู้เรื่องสัดส่วนและวิธีการดองยาจากสัตว์นั้นเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ประกอบกับชนิดสัตว์นั้นหาได้ยากมากขึ้นและมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ซุ้มยาดอง ถูกกฎหมายหรือไม่ ขอไม่พูดถึง แต่องค์ความรู้ในการปรุงสูตรยาดองนั้นให้ถูกตามหลักแพทย์แผนไทย ไม่ถูกแน่ ๆ
ในปัจจุบันการรักษาผู้ไข้โดยใช้ยาดอง "หมอขลุ่ย" กำชับว่าให้ดื่ม "วันละเป๊ก" ก่อนนอนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ดื่มมากกว่านั้น เพราะการดื่มยาดองแม้จะเพื่อการรักษา แต่หาดื่มมากเกินไปก็เหมือนการกินยา Overdose ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนผู้ที่ "คออ่อน" ไม่เคยกินแอลกอฮอล์มาก่อน แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ เพื่อจัดสูตรยาให้เหมาะสมกับร่างกาย
สุดท้ายฝากถึง "สายก๊ง" ทั้งหลายให้ดื่มยาดองเพื่อเป็นยา ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ อย่ากินเอาเมา กินเอามัน(ส์) เพราะสมุนไพรไทยใช่ว่าจะรักษาได้ทุกอย่าง ใช้มากเกินไปก็ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ วิธีการดองยาของแต่ละซุ้มคงดองไม่ถึงระยะเวลาตามสูตรยา จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้สรรพคุณตามโหลยาดองที่เลือกก๊งได้
ยาดองสูตรหนึ่งต้องดองกันนานกว่า 3 เดือน ถ้าซุ้มต้องขายยาดองทุกวัน ไม่น่าจะดองได้ทัน
สิ่งที่สายก๊งจะได้ คงมีแต่เหล้า และเป็นเหล้าที่แรง เพราะตามสูตรต้องใช้มากกว่า 40 ดีกรีถึงจะดึงเอาฤทธิ์ของสมุนไพรออกมาได้ นี่ยังไม่รวมถึงซุ้มที่ใช้เหล้าเถื่อน เหล้าต้มเอง มาผสมอีกด้วย
ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต การทำยาดองเพื่อขาย ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ไม่มีการอนุญาตให้ทำยาดองเพื่อจำหน่ายได้ โดยแบ่งความผิดออกเป็น 2 กรณี คือ
- การขายยาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษี ผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต มาตรา 155 ไม่มีใบอนุญาตขาย มาตรา 157 เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา และมาตรา 158 เปลี่ยนแปลงสุรา ซึ่งการจำหน่ายตาม "ซุ้มยาดอง" จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าว เพราะไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นการดองเหล้าเพื่อดื่มกินภายในบ้าน ไม่ได้ทำขาย สามารถทำได้
- การขายยาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต มาตรา 191 ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 192 ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 50,000 บาท
"ยาดอง" กินให้เป็นก็เห็นผล กินไม่เป็นก็ส่งผล
ยาดองมีข้อดีหลายประการที่ทำให้ได้รับความนิยมในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้สมุนไพรในการบำรุงร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ
- เพิ่มพลังงานและความแข็งแรงให้ร่างกาย เช่น โสมและตังกุย มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มพลังงาน ความแข็งแรง และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความอ่อนล้า
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สมุนไพรบางชนิดที่ใช้ในยาดองมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด บรรเทาอาการแน่น ขับลม ท้องเช่น ขิงหรือกระชาย
- ปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต สมุนไพรบางชนิดในยาดองมีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือดและช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- บรรเทาอาการปวดเมื่อย เช่น โกฐจุฬาลัมพา หรือขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหนักหรือทำงานที่ใช้แรง ยาดองบางชนิดช่วยฟื้นฟูร่างกายและบรรเทาความเมื่อยล้า
- บรรเทาความเครียดและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น เช่น ใบเลี่ยงผา หรือ ดอกคาโมมายล์
ข้อเสียหรือโทษของการดื่ม "ยาดอง"
- ผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ และระบบย่อยอาหาร รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด และอาจนำไปสู่การเสพติดแอลกอฮอล์จนเป็นโรคเรื้อรังได้
- ผลข้างเคียงจากสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ในยาดองอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ใช้ เช่น การแพ้ หรือการมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ยิ่งการบริโภคสมุนไพรในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
- ปัญหาในการผลิตและคุณภาพที่อาจเกิดการปนเปื้อน ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศที่มีคุณภาพต่ำ อาจลดประสิทธิภาพสรรพคุณยาดอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรดื่มยาดองหรือบริโภคแอลกอฮอล์ อาจส่งผลกระทบต่อทารก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้ายาดอง และควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหากต้องการใช้ยาดอง
อ่านข่าวเพิ่ม :
คุมฝากขัง 2 พี่น้อง "ผสมเหล้าเถื่อน" ขยายผลโรงงานลาดกระบัง
ต้องรู้! "เมทานอล" จากยาดอง-เหล้าเถื่อน อันตรายถึงตายได้
คลัสเตอร์ "ยาดองเถื่อน" เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ป่วย 25 คน
ตาย 1 เซ่นพิษเหล้าเถื่อน หามส่งโรงพยาบาลอีกเกือบ 20 คน
สั่งปิด 18 ร้านสุราเถื่อน หลังเสียชีวิต 1 ยังนอน รพ. 20 อาการโคมา 1