วันนี้ (27 ส.ค.2567) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนบริเวณท่าน้ำวังหลัง เขตบางกอกน้อย และบริเวณท่าราชวรดิฐ เขตพระนคร ว่า ขณะนี้ กทม.ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในจุดฟันหลอ บริเวณท่าน้ำวังหลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของน้ำเหนือไม่ได้กังวลเท่าไร เป็นห่วงเรื่องฝนตกหนักในพื้นที่กทม. มากกว่า แต่ก็ไม่ประมาท โดยเตรียมกระสอบทรายไว้ 1,500,000 ลูก และสำนักการระบายน้ำนำไปเรียงแล้ว 250,000 ลูกตามจุดฟันหลอที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้
ทั้งนี้ กทม.เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เตรียมตัวให้พร้อมไม่ต้องกังวลแต่ห้ามประมาทโดยเด็ดขาด
อ่านข่าว เสริมคันดินแม่น้ำยม จ.พิษณุโลก รับน้ำเหนือจาก จ.สุโขทัย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลาก
ปรับระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา 917 ลบ.ม.ต่อวินาที
ขณะที่กรมชลประทาน รายงานสถานการ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาเมื่อเวลา 07.00 น. เขื่อนเจ้าพระยา เริ่มทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้
- สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,169 ลบ.ม.ต่อวินาทีระดับน้ำ ต่ำกว่าตลิ่ง 5.16 เมตร
- สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 917 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อน ต่ำกว่าตลิ่ง 5.73 เมตร
โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม.ถึง 1.50 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
เขื่อนเจ้าพระยาปรับระบายน้ำเพิ่มเป็น 917 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลท้ายน้ำเพิ่ม 97 ซม.
"จิสด้า" ชี้มวลน้ำถึงสุโขทัย
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.แพร่ ตอนนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว มวลน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลลงสู่ จ.สุโขทัย ตามสายแม่น้ำยม แต่ภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง THEOS-2 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. เวลาประมาณ 10.41 น.ได้เผยให้เห็นมวลน้ำบางส่วนที่ยังตกค้างอยู่ใน จ.แพร่ โดยเฉพาะพื้นทำการเกษตรทั้งท้องนาและสวนผลไม้ของชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำยม
สีของแม่น้ำยม ปรากฏเป็นสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัด บ่งบอกถึงน้ำที่มาพร้อมกับตะกอนจำนวนมหาศาลที่พัดพามา พร้อมกับสายน้ำตลอดระยะทางที่ไหลมาซึ่งเป็นปกติในช่วงที่เกิดอุทกภัย
ส่วนในพื้นที่ อ.สอง น้ำที่หลงเหลือในแปลงนา และมีสีใกล้เคียงกับสีของแม่น้ำ บ่งบอกถึงพื้นที่ที่เพิ่งถูกน้ำท่วม และช่วยอนุมานถึงขอบเขตของพื้นที่น้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในพื้นที่ชุมชนบางแห่ง เช่น ต.เวียงทอง ยังปรากฏน้ำขังใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ถนนเลียบแม่น้ำบริเวณ อ.เมืองแพร่ บางพื้นที่ก็ยังถูกน้ำท่วมจนมิด เห็นเพียงต้นไม้ที่โผล่พ้นน้ำตามแนวถนน สวนผลไม้บางแห่งยังมีน้ำท่วมขัง ซึ่งสังเกตได้จากต้นไม้มีการปลูกเป็นแถวเป็นแนวซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสวน
อ่านข่าว เตือน 10 จว.ภาคกลาง-กทม.รับมือน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 40-80 ซม.
นอกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว ภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง THEOS-2 ยังช่วยยืนยัน และสร้างความเข้าใจถึงขอบเขตความเสียหายที่จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำ และความปลอดภัยจากอุทกภัยในเขตชุมชนหลายๆ แห่งตามแนวแม่น้ำยม
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องที่ https://disaster.gistda.or.th
อ่านข่าว : ด่วน! พบ 3 ชีวิตติดอุโมงค์ถล่ม-ส่งหุ่นยนต์เข้าช่วย