ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ ปชป. ถึงวันอยู่ใต้อาณัติ “ชินวัตร”

การเมือง
28 ส.ค. 67
16:11
276
Logo Thai PBS
จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ ปชป. ถึงวันอยู่ใต้อาณัติ “ชินวัตร”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แล้วการจูบปากเพื่อร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ของผู้บริหารปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดขึ้น หลังจากกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติเมื่อ 27 ส.ค.2567 ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล

แต่เปิดกว้างสำหรับ สส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ สส.กลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่แต่งตัวกางแขนรอก่อนหน้านี้แล้ว

ท่ามกลางการตอบรับของหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่แบะท่าพร้อมเรียกประชุมกรรมการบริหาร และ สส.พรรค เพื่อให้ความเห็นชอบทันทีที่ได้รับเทียบเชิญ

แม้ว่าพรรคผู้อาวุโสในพรรคอย่าง นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และคนในพรรคหลายคน รวมทั้งคนรุ่นใหม่อย่าง น.ส.วทันยา บุนนาค จะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย กับการเข้าร่วมรัฐบาลจนลืมอุดมการณ์ดั้งเดิม

แม้นในอดีตจะเป็นคู่แข่งบารมีทางการเมืองกันมา ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย กลายเป็นพรรคพลังประชาชน กระทั่งเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ทั้งจุดยืน อุดมการณ์ และนโยบาย แทบไม่มีส่วนไหนไปด้วยกันได้เลย

พรรคประชาธิปัตย์ เสนอตัวอยากเข้าร่วมรัฐบาล มาตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพราะมีเสียงสนับสนุนมากถึง 314 เสียงแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องดึงพรรคค่ายสีฟ้าเข้าไปร่วมด้วย

แต่เพราะปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างกลุ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค กับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จึงถูกดึงเข้าไปเป็นสมการส่วนหนึ่งในการตั้งรัฐบาล

จากเดิมคอการเมืองอาจมองว่า เป็นเพียงตัวสำรอง หวังบีบให้ในพรรคพลังประชารัฐตกลงกันให้ได้ แต่ในทางการเมืองกลับหวังให้เป็น “ตัวจริง” ตั้งแต่ต้น เพราะด้านหนึ่งถือเป็นทางออกสำหรับรับมือพรรคพลังประชารัฐที่ “แตกยับ” แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการ “สางแค้น” ไปในตัวพร้อม ๆ กัน จากเรื่องในอดีตอย่างที่กล่าวถึง โดยเฉพาะต่อนายชวน

การได้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล โดยแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 2 คน ถือว่าคุ้มค่าและราคาถูกมาก

เท่ากับทบต้นทบดอกฟันกำไรแบบเห็นๆ กับสถานภาพและการถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยกูรูและคอการเมืองที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกมองว่า ยิ่งเป็นการนับถอยลงในด้านคะแนนนิยม ถึงขั้นถูกปรามาสจากนักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนว่า จะเป็น “พรรคต่ำสิบ” สำหรับเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่สำหรับครั้งนี้ คนที่ถูกโฟกัสว่าจะ “เจ็บปวด” ที่สุด หนีไม่พ้นนายชวน

ไม่เพียงจะเป็น “เสียงข้างน้อย” ที่ต้องยอมรับมติส่วนใหญ่ของพรรคแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ สส.ฝ่ายรัฐบาล ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า มีแนวทางแบ่งแยกพื้นที่การพัฒนา โดยจะทำเฉพาะในจังหวัดที่เลือกคนของพรรคเพื่อไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังถูกมองข้ามช็อตไปถึงอนาคตนับจากนี้ คือภาพการนั่งทำหน้าที่ สส.ในสภาอย่างโดดเดี่ยว อาจหา สส.ของพรรคนั่งประกบข้างยากด้วยซ้ำไป ยกเว้นช่วงทำหน้าที่อภิปรายในสภา ที่สส.ส่วนใหญ่มักชอบไปนั่งอยู่ข้างๆเพื่อหวังได้โผล่หน้าออกจอทวีแบบฟรีๆ ให้ชาวบ้านได้เห็นหน้า

ตำนานความยิ่งใหญ่ของพรรคค่ายสีฟ้า ที่คนรุ่นก่อนๆ หลายครั้งเป็นแกนนำรัฐบาล เป็นนายกฯ ผู้นำประเทศ เป็นคนกล้าที่บทบาทกล้าสู้กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการทหารที่เข้าแทรกแซงการเมืองโดยใช้กำลังรัฐประหาร (แม้ครั้งหนึ่งจะโดนกล่าวหาว่าเปลี่ยนจุดยืน เพราะไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร) กำลังจะค่อยๆ มลายหายไป

ทิ้งไว้เพียงอดีตและความทรงจำ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : พบแล้ว 1 คน แรงงานติดในอุโมงค์ถล่ม - เร่งช่วย

กรมธรณีรับอุปกรณ์พัง เตือน “เขานาคเกิด” ภูเก็ตเสี่ยงดินถล่มซ้ำ

ศาลสั่งห้ามครอบครัวนำเด็ก 8 ขวบ ออกสอนเชื่อมจิตทุกช่องทาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง