ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

เศรษฐกิจ
29 ส.ค. 67
20:56
4,524
Logo Thai PBS
จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนสารแคดเมียม ปี 2567 มีแจ้งเตือนมาแล้วถึง 6 ครั้ง ขณะที่กรมวิชาการเกษตรระบุอยู่ระหว่างตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน ยืนยันจีนยังไม่ระงับส่งออกทุเรียนไทย

วันนี้ (29 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของล้งทุเรียนใน จ.ชุมพร ยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อส่งออก แม้ขณะนี้จีนจะมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนไทยบางชิปเมนต์ที่ส่งออกไปจีนปนเปื้อนแคดเมียม

เจ้าของล้งแห่งหนึ่งเชื่อว่า ทุเรียนที่พบการปนเปื้อนไม่น่าจะเป็นทุเรียนที่ปลูกในไทย เพราะเกษตรกร-ล้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการทำทุเรียนคุณภาพ เพราะหากตรวจพบสารตกค้างจะกระทบการส่งออก ราคาที่เกษตรกรขายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ขณะที่กรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ถึงปัจจุบัน จีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปนเปื้อนแคดเมียมมา 6 ครั้ง จำนวน 16 ชิปเมนต์ จากโรงคัดบรรจุ 12 ราย แหล่งผลิตจำนวน 15 สวน

กรมวิชาการเกษตรสั่งระงับการส่งออกทันที ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างทุเรียน ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต เพื่อหาการปนเปื้อน จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีตัวอย่างปนเปื้อน แต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด

อย่างไรก็ตามเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ส่งออกทุเรียนระหว่างวันที่ 2-16 ก.ย. นำตัวอย่างทุเรียน 5 ลูกต่อชิปเมนต์ มาตรวจการปนเปื้อนแคดเมียม ซึ่งจีนกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในอัตรา 800-1,200 บาท รวมค่าขนส่ง สำหรับ จ.ชุมพร ได้ประสานตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดกลางผลไม้ เป็นจุดรับตัวอย่าง ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สามารถนำตัวอย่างไปตรวจสอบได้ตามห้องปฎิบัติการ 6 แห่งที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO พร้อมยืนยันว่าแม้จีนจะแจ้งเตือนพบแคดเมียม แต่ยังไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทย

ด้านนายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มตรวจพบบ่อยครั้งขึ้น โดยต้องตรวจสอบตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก การขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ และสวนที่ได้ GAP เพื่อหาที่มาของสาเหตุ

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 27 ส.ค.2567 ส่งออกไปแล้ว 714,334 ตัน มูลค่า 94,870 ล้านบาท ส่วนทุเรียนผลสดนำเข้าจากกัมพูชา จำนวน 2 ชิปเมนต์ ปริมาณ 40,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

อ่านข่าว

เจ้าของเครื่องบินตั้งคำถามมาตรฐาน “ทีมช่าง” บางกลุ่ม

กพท.แจงออก “ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ” เตรียมสอบข้อเท็จจริง

ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง