จับกระแสการเมือง: วันที่ 30 ส.ค.67 ควันหลง “บอมบ์” เสรีพิศุทธ์ เจ็บถ้วนหน้า เลือกนายก อบจ.เมืองโอ่ง พรรคส้มมาแรง

การเมือง
30 ส.ค. 67
17:45
1,619
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง: วันที่ 30 ส.ค.67 ควันหลง “บอมบ์” เสรีพิศุทธ์ เจ็บถ้วนหน้า เลือกนายก อบจ.เมืองโอ่ง พรรคส้มมาแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สงครามการเมือง ระดับประเทศ ยังไม่จบ หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาทิ้งบอมบ์ ได้เข้าเยี่ยม "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะถูกควบคุมตัว โดยไปพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14

ทำเอา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องส่ง สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาปฎิเสธว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยม นายทักษิณ มีเพียงญาติและทนายความเท่านั้น และแชตไลน์สนทนา ก็ตอบไม่ได้ว่า มาได้อย่างไร

แม้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะระบุว่า ยังมีข้อมูลอีกไม่น้อย ที่จะค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมา ส่วน รมว.ยธ.ยังไม่ให้คำตอบอะไรที่ชัดเจน

และยังไร้คำชี้แจงจาก "ทักษิณ" อดีตนายกฯ แต่พรรคเพื่อไทย บ่ ยั่น ส่ง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ให้กำลังใจชาวบ้านผู้ประสบภัย โดยควงคู่ เจ้าของพื้นที่ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.สธ.และ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม รวมทั้ง สส.หลายคนจากพรรคเพื่อไทย ตามประกบ โดยแวะไหว้หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดคลองกระจง และยังตอบคำถามนักข่าว เรื่องการนำพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลเพื่อไทย ช่วงหนึ่งโดยระบุว่า

"วันนี้ฝ่ายบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนในหลายทศวรรษ การที่เราร่วมรัฐบาลกัน ไม่ได้แปลว่า พรรคเพื่อไทยยอมรับการกระทำของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก เราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การได้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ปัจจัยที่ทำให้เรามีเสียงมากพอ" น.ส.แพทองธาร กล่าว

ความเคลื่อนไหวของพรรคค่ายสีฟ้า หลังกรรมการบริหารพรรค ปชป.มีมติ 34:4 ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย "พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์" รองโฆษกและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ความขัดแย้งในอดีตที่เคยเกิดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนและหลายฝ่ายไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่เหมาะสม ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากให้เรื่องนี้ผ่านไป หากเรายังยึดติดอยู่กับอดีตแล้วจะสามารถก้าวข้ามปัจจุบัน ไปถึงอนาคตได้อย่างไร

"เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เห็นแล้วว่า การที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค มีความขัดแย้งกันนั้น บุคคลที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อมีคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานและบริหารพรรค จึงอยากให้พรรคมีแนวทางใหม่ๆ หรือการเมืองสมัยใหม่ โดยการทำงานร่วมกัน และพัฒนาไปพร้อมกันเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ไม่อยากให้มีการแบ่งแยกอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา" รองโฆษกค่ายสีฟ้า แจกแจง

สวนทางกับ "เอิร์ธ" พงศกร ขวัญเมือง อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟซบุ๊ก โบกมือลา แจ้งขอยุติการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ และได้ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยระบุว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต ต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน ถึงขั้นที่อาจจะนิยมน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยซ้ำ

แต่ในวันนั้น ก็ไม่ได้ลังเล เพราะเชื่อมั่นในความเป็นสถาบันของพรรค ที่มีหลักการ และทำให้เชื่อ ว่า หากได้รับเลือกตั้ง หรือ ไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังสามารถทำตามนโยบายตามความตั้งใจผ่านพรรคประชาธิปัตย์ได้

บนความเชื่อมั่น 3 อย่าง คือ...1.ความมีส่วนร่วม สมาชิกฯทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพรรค การเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกพรรคทั้งประเทศ ซึ่งทำให่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความยึดโยง ทั้งนโยบาย แนวทางพรรค และอุดมการณ์กับสมาชิกพรรคที่มีแนวความคิดที่เหมือนกันอย่างแท้จริง

2.ความเสมอภาค เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ ทุกคนสามารถขึ้นมามีบทบาทได้ ด้วยความที่พรรคมีกลไกดั่งข้อแรก ทุกคน ไม่จำเป็นต้องรวยหรือมีทุน ก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคได้ นโยบาย ต่างๆ ย่อมไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน ทำให้นโยบายสามารถผลักดันได้อย่างเต็มที่

3. อุดมการณ์ 10 ข้อ โดยเฉพาะข้อแรกคือ "พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์" เห็นว่า หลายครั้งที่พรรคเพียงแค่ถูกตั้งข้อสงสัยต่าง ๆ จะมีการแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการแสดงสปิริตนักการเมือง ลาออก หรือถอนตัวจากการบริหาร คือ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำให้เป็นบรรทัดฐานที่ต้องการให้ประเทศไทยมีนักการเมืองที่ดี

...แต่วันนี้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งทั้ง 3 อย่างนี้แล้ว

ลัดมาที่รั้ว ทบ.กันบ้าง และแล้ว "บิ๊กต่อพล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ก็เสนอชื่อ "บิ๊กปู" พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) เสธ.ทบ. ทหารราบคอเขียว ที่ฟาร์ตแทร็ก ได้รับเลือกให้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง เมื่อครั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 กลายเป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญคอแดง และจะเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 44 ต่อไป โดยจะนั่งอยู่ยาว 3 ปี เกษียณ 2570

แวะมาเมืองโอ่ง จ.ราชบุรี แม้จะเป็นสนามรบบ้านนอก แต่การต่อสู้ชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ราชบุรี ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ระหว่าง "กำนันตุ้ย" วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.และ ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ หรือ "หวุน" จากพรรคประชาชน โดยค่ำวันนี้ (30 ส.ค) พรรคส้ม จะเปิดปราศรัยใหญ่ที่ ตลาดสราญยามเย็น ริมน้ำบ้านโป่งนำทีมโดย "เท้ง" ณัฐพงษ์ เรืองปัญญา, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ชัยธวัช ตุลาธน และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และมีการรณรงค์ "1 กันยา คนราชบุรีกลับบ้าน"

ขณะที่ฝ่าย "กำนันตุ้ย" วิวัฒน์ ก็ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าระดมทีมงานเจาะเกาะติดพื้นที่ โดยอาศัยความเก๋า "บ้านใหญ่" ราชบุรี เข้าสกัด แต่คอการเมืองในพื้นที่แจ้งว่า "หวุน-ชัยรัตน์" มีสิทธิ์สูงที่แชมป์เก่าอย่าง "กำนันตุ้ย" อาจเสียพื้นที่ให้พรรคส้ม

ด้วยเหตุผลเคยเป็นนายก อบจ.มา 1 สมัยแล้ว แต่ทำงานไม่เข้าตาชาวบ้าน ท่ามกลางปัญหาน้ำท่วม เศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เริ่มออกมาแสดงตัวกันอย่างคึกคัก และวันที่ 1 ก.ย.นี้ คงได้รู้กันว่า "กำนันตุ้ยและหวุน" ใครจะอยู่-ใครจะไป

อ่านข่าว

ป.ป.ช.เรียกอดีต 44 สส.ก้าวไกลสอบปมลงชื่อแก้ ม.112

"เสรีพิศุทธ์" ย้ำจุดยืน ปัดข่าวนั่ง "รองนายกฯ" ครม.แพทองธาร

ชำแหละรัฐบาลแพทองธาร เสี่ยงสูงผิด "จริยธรรม-ถูกล้มกระดาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง