เมียนมา หรือพม่า เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองและการปกครองที่ซับซ้อน ตั้งแต่การเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมือง และการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ หากมาวิเคราะห์การเมืองการปกครองของเมียนมาในมุมมองทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และความขัดแย้งที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความคิดเห็นและมุมมองของนักวิชาการด้านกฏหมายมหาชน ต่อสถานการณ์ในเมียนมา จะสามารถแยกได้ดังนี้
1.จากอาณานิคมถึงรัฐบาลทหาร
การเมืองและการปกครองของเมียนมา หากเริ่มต้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2367 หลังจากสงครามอังกฤษ-พม่า การเป็นอาณานิคมส่งผลให้วัฒนธรรม การปกครอง และเศรษฐกิจของเมียนมาเปลี่ยนไปอย่างมาก และช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองและการได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ. 2491 เมียนมาเข้าสู่ยุคการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่นาน จากนั้นเมียนมาต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในและการก่อรัฐประหารโดยทหารในปีพ.ศ.2505 ภายใต้การนำของนายพลเนวิน
การปกครองโดยรัฐบาลทหารในเมียนมา ล่วงเลยมายาวนานและเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง ทหารเมียนมาได้วางโครงสร้างการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ และบังคับใช้รัฐนิยมและการควบคุมอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศซบเซา และการพัฒนาทางการเมืองถูกหยุดชะงัก
2. การพยายามเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ในช่วงปีพ.ศ.2531ในประเทศเมียนมาเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ ประชาชนได้จัดการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคมของปีนั้น หรือที่เรียกกันว่า 8888 Uprising เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ถูกปราบปรามขั้นเด็ดขาดโดยกองทัพ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
หลังจากการปราบปราม 8888 Uprising รัฐบาลทหารยังคงจัดการปกครองต่อไป และให้มีการจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2533 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพปฏิเสธผลการเลือกตั้งและยังคงยึดอำนาจต่อไป อองซานซูจีถูกกักบริเวณในบ้านเป็นเวลาหลายปี
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553 เมื่อรัฐบาลทหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการปฏิรูปและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ.2554 แม้จะยังคงมีการควบคุมทางทหารอยู่เบื้องหลัง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสัญญาณของการเปิดช่องทางให้กับประชาธิปไตย อองซานซูจีได้รับการปล่อยตัวและได้รับอนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2558 ซึ่งถือเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
3. ความขัดแย้งภายใน ระหว่างชาติพันธุ์และกองทัพ
แม้ว่าจะมีการพยายามเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่เมียนมายังคงเผชิญกับความขัดแย้งภายในที่รุนแรง โดยเฉพาะปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเนื่องมาจากยุคอาณานิคมและยุคสงครามเย็น ทั้งนี้เมียนมามีชนชาติพันธุ์กว่า 135 กลุ่ม โดยกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ ๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวคะฉิ่น และชาวชิน ต้องเผชิญกับการปราบปรามจากรัฐบาลกลางมาโดยตลอด ทำให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความเป็นธรรมในการปกครองตนเอง ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ยาวนานและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
ปัญหาชาติพันธุ์ที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในช่วงหลังคือกรณีของชาวโรฮีนจาหรือที่คนไทยเรียกว่าโรฮิงยา ในรัฐยะไข่ รัฐบาลเมียนมาและกองทัพถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจา ผ่านการกระทำรุนแรง และการบังคับให้มีการอพยพที่ทำให้ผู้คนหลายแสนคนต้องหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ปัญหานี้ได้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ทำให้รัฐบาลของนางอองซานซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แม้ว่าเธอจะเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ก็ตาม
4. การรัฐประหารปี พ.ศ.2564 และวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาถูกทำลายลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เมื่อกองทัพเมียนมา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้ง และจับกุมนางอองซานซูจี พร้อมกับผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ของ NLD โดยกองทัพให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2563 ซึ่ง NLD ชนะอย่างถล่มทลายนั้นมีการโกงเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
การรัฐประหารครั้งนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ประชาชนทุกกลุ่มและทุกวัยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านการเดินขบวน การนัดหยุดงาน และการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ ขณะที่กองทัพใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างรุนแรง การใช้กำลังอาวุธเพื่อควบคุมการประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน และประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ
5. บทสรุปและแนวทางในอนาคต
สถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมายังคงมีความไม่แน่นอนและซับซ้อน ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพยังคงดำเนินต่อไป โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ควบคู่กับประชาชน ทำให้การปฏิรูปประชาธิปไตยที่เคยมีความหวังอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาอีกครั้ง
การแก้ไขปัญหาในเมียนมาอาจต้องเริ่มจากการเจรจาระหว่างกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะระหว่างกองทัพกับประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาคมระหว่างประเทศในการผลักดันให้เกิดการเจรจาและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายวิกฤตที่ยืดเยื้อ
วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2567 Thaipbs North จะนำเสนอ ย้อนอดีต-มองอนาคตการเมือง-ปกครอง “เมียนมา” /ตอน 2 ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการเมือง ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาและการเมือง รวมถึงผู้ผลักดันเชียงใหม่จัดการตนเอง เกี่ยวกับความขัดแย้งในประเทศเมียนมา
รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ