13 ข้อเสนอนโยบาย "รัฐบาลแพทองธาร" ครป.จี้นิรโทษกรรม

การเมือง
8 ก.ย. 67
19:14
1,097
Logo Thai PBS
13 ข้อเสนอนโยบาย "รัฐบาลแพทองธาร" ครป.จี้นิรโทษกรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครป.แถลง 13 ข้อเสนอนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” จี้นิรโทษกรรมและผลักดัน รธน.ฉบับใหม่ ขณะที่ "ลัดดาวัลย์" ย้ำประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้านเลขา ครป. วิพากษ์ ครม.ชุดใหม่ยังมีมลทิน จี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาด

วันนี้ (8 ก.ย.2567) น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงข่าวข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทย ที่มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.2567

โดย ครป. มีความเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสานต่อและจัดทำนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริง ตามพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับรัฐสภา และแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเลยข้อเรียกร้องที่มาจากภาคประชาสังคม โดย ครป. มีข้อเสนอ ดังนี้

1. เร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างอิสระเสรี โดยที่มติคณะรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติ ด้วยคำถามที่จะขอประชามติเป็นคำถามที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนสับสนซ่อนเงื่อน อาทิว่า “เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบันหรือไม่” ทั้งนี้ ให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้น คือ ก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568

2. ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ให้แยกเป็นอิสระจากกันชัดเจน มีความสมดุลกันอย่างเหมาะสม ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ทั้งจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ มีความโปร่งใส และยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน

3. ให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่องการวางแผน จัดทำโครงการ การตั้งคำของบประมาณโดยตรง และพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น

ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โอนภารภิจ การงาน บุคลากร และงบประมาณส่วนภูมิภาคให้ท้องถิ่น เช่น งานตำรวจ งานสาธารณสุข งานการศึกษา งานเกษตรกรรม งานสาธารณูปโภคพื้นฐาน งานจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

4. ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง นักโทษที่ถูกกล่าวหาจากคำสั่งของคสช. ตลอดจนนักโทษทางความคิด ความเชื่อ หรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีเพราะเหตุผลทางการเมือง โดยอาจตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลให้มีนโยบายปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้มีการประกันตัวสำหรับคดีการเมืองโดยทันที

5. เร่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ รวมตลอดถึงกระบวนการพิจารณาคดีความในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นระบบในศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหารและระบบการจัดการดูแลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์

6. เร่งรัดให้ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้า และสร้างการแข่งขันทางการค้าที่เสรีเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ และในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนแก้ไขปัญหาค่าแรงทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับค่าแรงที่เท่าเทียม ได้รับสวัสดิการที่ดี รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง โดยยุติการผลักภาระด้านต้นทุนแก่ประชาชนผู้บริโภค

7. เร่งทบทวนสัญญาและสัมปทานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการผูกขาด เอื้อประโยชน์ และไม่เป็นธรรม อันทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์แล้ว ขอให้รัฐบาลได้ยุติสัญญาหรือสัมปทานนั้น ๆ ทันที ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาด

8. ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการถือครองที่ดินอย่างผูกขาดและเกินความจำเป็นไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน โดยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยเร่งปรับปรุงแผนที่ One Map ให้เสร็จโดยชัดเจนโดยมีส่วนร่วมจากประชาชนชุมชนเพื่อลดข้อพิพาทต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งกลไกให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาไร้ที่ทำกินของประชาชน

9. ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการจัดระบบโครงสร้างการจัดการภาวะอุทกภัยและภัยแล้ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกและยั่งยืน

10. เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับภาวะเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโลกร้อนและพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ผลิตที่กระบวนการผลิตส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ของโลกอยู่ในขณะนี้

11.มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ได้อย่างอิสระ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคม เท่าทันกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศในสากลโลก ด้วยการวางสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา

มีระบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้อิสระกับนักเรียนนักศึกษา ให้มีความสามารถในการคิดเอง ทำเอง พัฒนาตนเอง จากความรู้ในระบบสารสนเทศที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง โดยการลงทุนอย่างจริงจังในระบบการศึกษา การพัฒนาครูผู้สอน การกระจายทรัพยากรทางการศึกษา และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกมิติ อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภูมิสังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

12. ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและเคารพในวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายและยุติการสร้างความเกลียดชังต่อผู้มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ เพศสภาวะ และเพศวิถี

13. ร่วมมือกับอาเซียน ในการพัฒนา สิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ยุติบทบาทที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน โดยร่วมมือกับอาเซียนผลักดันให้ปฏิบัติตามฉันทมติอาเซียน 5 ข้อ

ปชช.เจ้าของอำนาจอธิปไตย

น.ส.ลัดดาวัลย์ ยืนยัน ไม่ได้คาดหวังต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลนำไปสู่การปฏิบัติจริงสักเท่าไหร่ และวันนี้ไม่ได้มาเรียกร้องให้รัฐบาลเขียนนโยบายลงในแผ่นกระดาษ เพื่อไปอ่านให้ล่องลอยไปในอากาศในรัฐสภา แต่วันนี้จะมาบอกให้รัฐบาลได้รู้ว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าต้องทำและไม่เคยได้กระทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะทำให้มันเกิดขึ้น ดังที่ได้มีหลายกลุ่ม หลายขบวนประชาชนหลายหมู่เหล่า ได้ออกมายืนยัน ถึงแนวทางและนโยบาย ในการแก้ไขพัฒนาประเทศ เพื่อจะให้ประเทศไทยได้อยู่รอดปลอดภัยเป็นปกติสุขในท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลกที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นของการที่จะต้องทำให้นโยบายต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจริงให้ได้ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และมันจะเกิดขึ้นได้ ด้วยประชาชนที่พร้อมใจกันทำให้มันเกิดขึ้น หากเราจะให้ประเทศนี้อยู่รอดอย่างยั่งยืนบนโลกใบนี้

"แลนด์บริดจ์" ความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่

นายสมบูรณ์ คำแหง รองประธาน ครป. และ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ เดินหน้าเมกะโปรเจคโดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ที่สานต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แต่สิ่งที่ต้องการให้ทบทวน คือการเดินหน้าแลนด์บริดจ์เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

จากการศึกษารายละเอียดโครงการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศไทย เป็นโครงการที่จุดประสงค์ต้องการเชื่อมโยงการค้าขาย ถ้าสร้างเสร็จไม่มั่นใจว่าผู้ประกอบการ นักเดินเรือ มาใช้บริการ อาจจะทำให้สูญเสียทรัพยาการที่ดินกว่า 1 แสนไร่ และ อาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการลงทุน และที่ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้รัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษ

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำหน้าที่ยกประโยชน์หรือยกฐานทรัพยากรของประเทศชาติให้กับกลุ่มทุนที่มาลงทุน 99 ปี

รัฐบาลใช้เวลาเกินควรจัดตั้งรัฐบาล 

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธาน ครป. และ กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ระบุว่าประเทศไทยกำลังเจอปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนี้สินครัวเรือนสูง รวมถึง ทักษะแรงงานต่ำ SMEs ขาดสภาพคล่อง และ กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

แต่ไม่ได้พูดถึงสาเหตุของเกิดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุมากจากการใช้เวลามากเกินไปในการจัดตั้งรัฐบาล การตกลงกันของพรรคการเมือง การช่วงชิงอำนาจกันเกือบ 2 ปี ที่ปัญหาวนเวียน

และสาเหตุการจัดการอำนาจที่ไม่ลงตัว ทำให้เกิดปัญหาต่างประเทศไม่เชื่อมั่นในความเป็นประชาธิปไตย

รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย และเป็นชุดที่สอง แต่นโยบายไม่ผูกพันกับนโยบายพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งตอนหาเสียง นโยบายค่าจัางขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ที่ไม่ถูกบรรจุลงในนโยบายรัฐบาลแพทองธาร

ทั้งนี้รัฐบาลมีเวลาเพียง 3 ปีในการบริหารประเทศ อยากเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาปากท้อง สวัสดิการของประชาชน

จี้รัฐบาลให้ความสำคัญด้านมนุษยธรรม

นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. และ คณะทำงานนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ระบุว่าอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญด้านมนุษยธรรมต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งขับเคลื่อนในงานที่คนไทยไม่อยากทำ อยากให้ผ่อนผันแรงงานเหล่านั้นอยู่ในราชอาณาจักร การอนุญาตทำงาน โดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองบุคคล จนกว่าสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ

รวมถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาให้ประเทศไทยเข้าให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

นอกจากนี้ให้รัฐบาลส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ โดยการเร่งทำกฎหมายระบุเพศของตัวเองได้ รองรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสมบูรณ์แบบ

เลขา ครป. วิพากษ์ ครม.ชุดใหม่ยังมีมลทิน

นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และ ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อห่วงใยในรัฐบาล ว่า ครม.แพทองธาร 1 ต้องการปรับปรุงเรื่องจริยธรรม จึงได้นำปรับรัฐมนตรีเก่าที่มีข้อครหาออกไปหลายคน แต่ทั้งนี้ยังคงมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ยังมีมลทินในอดีตให้เข้ามาคุมกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิมนั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็น ครม.หน้าตาใหม่ไร้มลทิน

โดยอ้างว่าเพราะเคยเป็นเจ้ากระทรวงเดิมที่เคยเกิดคดีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ฉาว และคดีซื้อแอร์บัสการบินไทย

ส่วนโยบายของรัฐบาลหลายข้อตรงกับวิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มองไกล แต่หลายเรื่องเป็นโอกาสทางธุรกิจไม่ใช่โอกาสของประเทศ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์เต็มที่

ซึ่งมีความเห็นต่อวิสัยทัศน์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนนั้น ต้องลดรายจ่ายประชาชนเพื่อลดหนี้สินครัวเรือน โดยลดภาษีบ้านและรถยนต์ ลดอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย ลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน โดยการปรับโครงสร้าง และแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม

รัฐบาลต้องทำเศรษฐกิจให้เติบโตแต่ไม่ปรับโครงสร้างไม่ได้ เพราะโครงสร้างกระจายรายได้ไทยเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก นโยบายเงินหมุนเวียนจากล่างขึ้นบนหรือดิจิทัลอลเล็ต จะทำให้กระเป๋าตังเจ้าสัวก้าวกระโดด ควรยกเลิกนโยบายประชานิยมแบบเติมเม็ดเงินหมุนเวียนที่กระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ แต่คนไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สิน

สำหรับกรณีนโยบายการนำพลังงานใต้ดินขึ้นมาใช้ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะหุ้นส่วนเหมือนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างตัวอย่างนอรเวย์ Fund และทำประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลจากรายได้จากพลังงานของประเทศ ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมหาศาล รวมถึงในพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา ถ้านำมาหาผลประโยชน์ให้กับประเทศและจัดตั้งเป็นกองทุนแบบนอรเวย์ จะดีกว่าระบบสัมปทานแบบเก่า ทรัพยากรไทยมีจำนวนมากมายที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายทรัพยากร และการแก้ปัญหาการผูกขาดทรัพยากร

ทั้งนี้ขอคัดค้านนโยบายกาสิโนถูกกฎหมายในไทย หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ครบวงจร ซึ่งถ้ามีควรไว้สำหรับต่างชาติ นักท่องเที่ยวเท่านั้นและมีการจัดเก็บภาษี เพราะถ้าอนุญาตให้คนไทยเล่นได้ทั้งหมดก็จะนำเข้าสู่ปัญหาหนี้สิน

อ่านข่าว :

เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน "รัฐบาลแพทองธาร" ดิจิทัลวอลเล็ต-ลดราคาพลังงาน

นายกฯ พร้อมทำงานเพื่อประเทศ เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

วิป 3 ฝ่ายจ่อถกเวลาอภิปรายนโยบาย "วิสุทธิ์" ขอลดเวลาฝ่ายค้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง