ปิดฉากความขัดแย้งในอดีตเกือบ 2 ทศวรรษ สลายขั้วอำนาจทางการเมือง ผ่านการจัดตั้ง "รัฐบาลแพทองธาร" 35 รัฐมนตรี 41 ตำแหน่ง จาก 10 ขั้วพรรคการเมือง และ 1 กลุ่มการเมือง 323 เสียง เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือให้ครบเทอมในอีก 3 ปีข้างหน้า
แต่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ "การเมือง-กองทัพ" ในยุคที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 จึงจำเป็นต้องจัดวางกลไก-ยุทธศาสตร์การเมือง และความมั่นคง เพื่อป้องกันเหตุการณ์สะดุด ซ้ำรอยยึดอำนาจ รัฐประหารคนในตระกูล "ชินวัตร"
นายภูมิธรรม เวชยชัย คือหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกจัดวางไว้ หวังเดินเกมคุมงานด้านความมั่นคง ผ่านเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ "การเมือง-กองทัพ" จึงเปิดดีลขั้วอำนาจเก่า ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ นั่งเก้าอี้ รมช.กลาโหม
พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า มีบิ๊กดีลข้างหลัง ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีเครือข่ายเส้นสายทางการเมืองและกองทัพ
เป็นห่วงหากฝ่ายการเมือง นำกองทัพมาเป็นฐานการเมือง ด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายข้ามรุ่น หรือนำกลุ่มคนที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ มาทำงานในกองทัพ สุดท้ายอาจทำให้กองทัพขาดเสถียรภาพ อ่อนแอลง และหากกองทัพไม่ยินยอม การเมืองอาจใช้ไม้ตายตัดลดลงงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
ขณะที่ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ม.บูรพา มองการจัดสรรตำแหน่งดังกล่าวว่าเป็นการต่อรองและถ่วงดุลอำนาจกัน โดย พล.อ.ณัฐพล เป็นดีเอ็นเอของ พล.อ.ประยุทธ์ หากให้นายภูมิธรรมเข้าไปคุมกองทัพเพียงคนเดียว อาจเกิดความไม่สบายใจ
รศ.โอฬาร สะท้อนภาพว่า นายภูมิธรรม เป็นตัวแทนของนายทักษิณ ด้วยอ้างอิงเปิดทางให้จัดระเบียบกองทัพ หลังถูกปิดประตูจากกองทัพมาเกือบ 2 ทศวรรษ เพื่อป้องกันกระบวนการกองทัพส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางอำนาจการเมืองของรัฐบาล
วิเคราะห์ : ปัญญา ทิ้วสังวาลย์ ผู้สื่อข่าวชำนาญการ ไทยพีบีเอส