ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีตยื่นสอย "ทักษิณ" วันนี้ "เรืองไกร" ยื่นสอยลูก

การเมือง
9 ก.ย. 67
16:36
389
Logo Thai PBS
อดีตยื่นสอย "ทักษิณ" วันนี้ "เรืองไกร" ยื่นสอยลูก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แล้วก็ได้ทำตามที่ประกาศไว้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักร้องเรียนมือลำดับต้น ๆ ของไทย ยื่นเรื่องร้อง กกต.ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ

กรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย หรืออดีต "สหายใหญ่" เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เข้าข่ายขาดคุณสมบัติความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

อันเป็นเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เหมือนกรณีคำร้องอดีต 40 สว. ยื่นสอยนายเศรษฐา ทวีสิน จากเก้าอี้นายกฯ

ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกรได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร เรื่องการถือหุ้นและลาออกจากกรรมการบริษัทเอกชนกว่า 20 แห่ง ถูกต้องครบถ้วน ได้มีการทำเอกสารย้อนหลังหรือไม่

และคำร้องหนึ่งคือเรื่องจริยธรรม กรณี น.ส.แพทองธาร ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร บิดา เข้า "ครอบครอง" ตำแหน่งนายกฯ อย่างที่ให้สัมภาษณ์สื่อไว้หรือไม่

ต้องไม่ลืมว่า นายเรืองไกรคนนี้ มีบทบาทในแวดวงการเมืองมานานกว่า 20 ปี เคยเป็น สว. และมีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบรัฐบาลนายทักษิณ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย

เป็นหนึ่งในผู้เปิดโปงและยื่นเรื่องร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณี "ซุกหุ้น" ของ "นายทักษิณ" จนเป็นที่มาของวาทกรรม "บกพร่องโดยสุจริต" แม้ครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 7 เสียง เห็นว่านายทักษิณ มิได้ซุกหุ้น จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ ครั้งแรกได้

นายเรืองไกร ยังเคยยื่นสอยอดีตนายกฯ อีกคน คือนายสมัคร สุนทรเวช กรณีจัดรายการโทรทัศน์ "ชิมไป บ่นไป" โดยได้รับค่าตอบแทนเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง

และนายเรืองไกรคนนี้เช่นกัน ที่ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้าม สมัครเป็น สส. จากการถือครองหุ้นไอทีวี

มือระดับนายเรืองไกรจึงไม่ธรรมดาและมองข้ามไม่ได้ เพราะขณะนี้ เขาคือหนึ่งในขุนพลแถวหน้าของพรรคพลังประชารัฐของ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยสมบูรณ์แล้ว หลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ สส.ในกลุ่ม ไม่ร่วมวงไพบูลย์กับ พปชร.แล้ว

แม้นายเรืองไกรจะไม่ได้เป็น สส. แต่บทบาทพรรคพลังประชารัฐนับจากนี้ ไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะทำหน้าที่เขย่ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ในฐานะฝ่ายค้านในสภาได้ แต่บทบาทนอกสภาต่างหาก ที่กูรูทางการเมืองให้จับตา ทั้งวิเคราะห์ว่า บ้านป่ารอยต่อจะเป็นศูนย์กลางของคนไม่เอาระบอบทักษิณและรัฐบาล น.ส.แพทองธาร

จนนักวิเคราะห์การเมืองบางคน แทนที่จะใช้คำว่า พปชร.เป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่กลับใช้คำว่าเป็นพรรคฝ่ายแค้นไปแล้ว เพราะการโดน "ตบโชว์รอบ 2" ในการแสดงวิสัยทัศน์จากงานดินเนอร์ทอล์กของ "นายใหญ่" ยิ่งกว่าฉีกหน้าประจานชาวโลกซ้ำ

การขยับของนายเรืองไกร เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการรวมพลคนไม่เอาระบอบชินวัตร ที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.2567 ทั้งกลุ่มนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศ หรือ คปท.ที่มีนายพิชิต ไชยมงคล เป็นแกนนำ นายนัสเซอร์ ยีหมะ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส.

และกลุ่มกองทัพธรรม สันติอโศก นำโดย ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ โดยมีนักวิชาการแถวหน้าอย่าง รศ.เจษฏ์ โทณวณิก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไปร่วมเสวนาบนเวทีด้วย และนัดรวมตัวปลุกม็อบลงถนน ประเดิมวันที่ 17 ก.ย. หรือ 1 วันหลังจาก น.ส.แพทองธาร เข้าทำงานในทำเนียบ

เป้าหมายภารกิจของมวลชนกลุ่มนี้ คือ "หยุดระบอบชินวัตร ครม.ญาติกา" แม้จะถูกมองจากกูรูทางการเมืองหลายคนว่า คงทำอะไรรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ไม่ได้ แต่อย่างน้อยได้สะท้อนและถือเป็นจุดเริ่มต้นการรวมตัวของกลุ่มคนที่เคยยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนายทักษิณมาตั้งแต่สมัยอดีต

ส่วนที่เชื่อว่า จะทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เพราะกลุ่มนี้เคยรวมพลมาหลายรอบ แต่จุดไม่ติด ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการจัดตั้งม็อบ หรือมวลชน ที่ทราบกันดีว่า การปลุกม็อบจะสำเร็จได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการ

1.ต้องมีท่อน้ำเลี้ยง เพราะการจัดม็อบต้องใช้ทุนรอน

2.ต้องมีผู้นำม็อบที่สามารถเรียกมวลชนได้ อย่างในอดีต ม็อบพันธมิตร มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำ ก่อนจะได้พันธมิตรเข้ามาเสริม อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และอีกหลายคน หรือม็อบ กปปส. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ที่บารมีทางการเมืองไม่ธรรมดาเป็นผู้นำแต่แกนนำม็อบปัจจุบัน ที่เปิดหน้าตาแล้วยังไม่แรงพอ ส่วนผู้นำรุ่นเก่าต่างโรยราไปตามวัย

ปัจจัยที่ 3 คือต้องมีประเด็นสำหรับการปลุกม็อบ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีถึงขั้นนั้น เรื่องการต้านระบอบชินวัตร ยังเป็นนามธรรมเกินไป

อีกทั้งเชื่อว่า "นายใหญ่" คงเตรียมการณ์รับมือเรื่องจุดม็อบไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากผู้นำรัฐบาลถือเป็น "ไข่ในหิน" ที่ต้องปกป้องพิทักษ์ถึงที่สุด ขณะที่อีกหนึ่งเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับบ้าน ยังไม่สำเร็จ

จึงยังไม่ปรากฏว่ามี "ยุทธศาสตร์" ใด หรือประเด็นใด ที่ฝ่ายต้านระบอบทักษิณ มีอยู่ในมือมากพอที่จะ "น็อก" รัฐบาลได้ แม้แต่เรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่หลายคนฝ่ายฝ่ายแอบหวังกันอยู่

การขอภาพจากกล้องวงจรปิดของ ป.ป.ช. ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ เรื่องผลสอบของแพทยสภา หลังจากมีคนไปยื่นร้อง ทั้งแพทย์ ร.พ.ตำรวจ และ ร.พ.ของกรมราชทัณฑ์ จนป่านนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งที่แพทยสภาเคยบอกว่า จะแจ้งผลสอบเอาผิดภายใน 21 ส.ค.2567 แต่ถึงวันนี้เข้าเดือน ก.ย. ก็ยังเงียบ

ส่วนเรื่องข้อมูลการเปิดเผยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. ทั้งเรื่องแชตไลน์และข้ออ้างได้เข้าพบนายทักษิณ 2 ครั้ง ก็ยังต้องลุ้นต่อว่ามีหลักฐานอื่นยืนยันที่ชัดเจนกว่านี้หรือไม่

ทำให้ต้องลุ้น "นิติสงคราม" คือการใช้ช่องทางทางกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคคนใหม่ ที่ในอดีตเคยมีคอนเนกชันกับกลุ่ม (อดีต) 40 สว. ที่ยื่นสอยนายกฯ และนายเรืองไกร ในฐานะที่เคยเป็น "แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์" มาแล้ว

เคยสร้างแรงสั่นสะเทือน "ผู้พ่อ" นายทักษิณจนหวิดตกเก้าอี้ เคยสอยนายสมัคร ร่วงจากเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว ตอนนี้ กำลังทำหน้าที่ "สอย" น.ส.แพทองธาร บุตรสาวทายาททางการเมืองคนสำคัญของนายทักษิณอีกคน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "แพทองธาร" ขนชุดโต๊ะทำงานมาเอง ปรับฮวงจุ้ยตั้งทิศใหม่

เห่าเสียงดัง! ตามหามือมืดใช้เทปกาวมัดปากหมา 10 ตัว

มติ 3 วิปเคาะแถลงนโยบาย 29 ชม.ให้ ครม. 6 ชม. ฝ่ายค้าน 13 ชม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง