-
รวมเบอร์ติดต่อ "ขอความช่วยเหลือ-แจ้งเหตุ" น้ำท่วม จ.เชียงราย
-
น้ำท่วม 2567 เตรียมตัวก่อนได้เปรียบ แนะวิธีรับมือสู้ภัยพิบัติ
วันนี้ (10 ก.ย.2567) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.2567 โดยมีรายละเอียดว่า
วันที่ 13-18 ก.ย.2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณที่ลุ่มต่ำและชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ รวมทั้งน้ำป่าไหลหลาก
- ภาคเหนือ ในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง ในพื้นที่ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
- ภาคตะวันออก ในพื้นที่นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ ในพื้นที่ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล
ทีมวิจัยเตือน "อยุธยา" น้ำท่วมสูงขึ้น
ขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังน้ำท่วมปี 2567 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวโน้มปริมาณน้ำมากเป็นหลักที่ จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าในอีก 10 วันข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำท่าเพิ่มขึ้นไปอีกพักหนึ่ง และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงน้ำขึ้น
พิจิตร-สุโขทัย น้ำท่วมกินพื้นที่เกิน 1 แสนไร่
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel–1A ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ล่าสุดพบว่าพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีขนาด 609,308 ไร่ จำนวน 12 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ พิจิตร และสุโขทัย (เกิน 100,000 ไร่) ขณะที่ปริมาณน้ำฝนยังคงมีฝนมากบริเวณฝั่งตะวันออกของภาคเหนือตอนบน รวมถึงตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก
สำหรับสถานการณ์ของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 49% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 6,865 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 80% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 1,892 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 50% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 466 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 33% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 642 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนกิ่วคอหมามีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 76% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 41 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนกิ่วลมมีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 53% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 52 ล้าน ลบ.ม.)
อ่านข่าว : น้ำท่วมฉับพลัน - ดินสไลด์ อ.แม่อาย -เร่งช่วยเหลือ 6 ผู้ประสบเหตุ
ขอผู้ประสบภัยใน 4 ชุมชน อ.แม่สาย อยู่ในที่ปลอดภัยรอการช่วยเหลือ
ปภ.เชียงราย เผย อ.แม่สาย น้ำท่วม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน - เร่งช่วย