ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รีบผูกพร้อมเพย์! กลุ่มเปราะบางรับ "เงินสด" ดิจิทัล 25-30 ก.ย.นี้

เศรษฐกิจ
14 ก.ย. 67
12:01
49,950
Logo Thai PBS
รีบผูกพร้อมเพย์! กลุ่มเปราะบางรับ "เงินสด" ดิจิทัล 25-30 ก.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชัดเจนแล้ว สำหรับกลุ่มเปราะบางจะได้รับเงินหมื่นจากรัฐบาล วันที่ 25-30 ก.ย.นี้ โดยการโอนเงินเข้าพร้อมเพย์ เลขบัตรประชาชน และสามารถถอนเป็น "เงินสด" ได้ ส่วนกลุ่ม 2 อาจยังไม่ได้ภายในปีนี้ เพราะยังไม่ได้ยอดผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณ

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ว่า รัฐบาลต้องดูความต่อเนื่อง และช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการจ่ายเงินไม่น่าทันในปีนี้

ส่วนการจ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นเฟสแรก กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 14.5 ล้านคน ได้แก่ ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ และ ผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย.2567 เป็นการโอนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ที่เชื่อมเลขบัตรประชาชน ดังนี้

  • วันที่ 25 ก.ย.2567 กรมบัญชีกลางโอนเข้าบัญชีผู้พิการ 2.6 ล้านคน และผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วย เลข 0

ส่วนที่เหลือจะโอนให้ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ตามเลขหลังบัตรประชาชน

  • วันที่ 26 ก.ย.2567 ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขบัตรประชาชนลงท้าย เลข 1, 2, 3
  • วันที่ 27 ก.ย.2567 ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขบัตรประชาชนลงท้าย เลข 4, 5, 6, 7
  • วันที่ 30 ก.ย.2567 ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขบัตรประชาชนลงท้าย เลข 8, 9

ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า แม้เงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เศรษฐกิจไทย ยังมีโอกาสขยายตัว ถึงร้อยละ 3

เตือน 3 ล้านคนเร่งผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน

ขณะที่ นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เตือนผู้พิการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกกว่า 3,000,000 คน ยังไม่ได้ผูกหมายเลขบัตรประชาชน กับบัญชีพร้อมเพย์ ให้เร่งยืนยันตัวตน และผูกบัญชีพร้อมเพย์ โดยสามารถทำได้ 3 ช่องทาง

  1. ไปติดต่อกับสาขาธนาคารที่มีบัญชีไว้
  2. ตู้เอทีเอ็ม
  3. โมบายแบงก์กิ้ง

คนไทยหนี้ครัวเรือนพุ่งเฉลี่ย 6 แสนต่อครัวเรือน

โครงการแจกเงินหมื่น เป็น 1 ในนโยบายรัฐบาลที่ต้องการประชาชนมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยสร้างพายุหมุนในเศรษฐกิจ แต่ในมุมกลับกัน คนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งมีหนี้ประมาณ 600,000 บาท หมายความว่า อยากเอาเงินไปจ่าย อยากเก็บเงิน แต่ความเป็นจริงยังต้องเอาเงินไปใช้หนี้ เพราะจากค่าเฉลี่ยพบว่า คนไทยจ่ายหนี้เดือนละ 18,000 บาท

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 606,378 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับปี 2566 แต่ถ้าเทียบกับปี 2552 หรือรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยเพียง 143,476 บาท จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 322

ส่วนการชำระหนี้เฉลี่ย อยู่ที่ 18,787 บาท/เดือน เป็นหนี้ในระบบ 17,299 บาท/เดือน และหนี้นอกระบบ 6,518 บาท/เดือน

หนี้ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร ?

จากการสำรวจหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก พบว่าเป็น หนี้บัตรเครดิตสูงสุดร้อยละ 60.2 รองลงมาเป็นหนี้ยานพาหนะร้อยละ 47.1 และหนี้ส่วนบุคคล (อุปโภคบริโภค) ร้อยละ 40.1

ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีผลทางจิตวิทยาด้วย เพราะถ้ามีหนี้สูงประชาชนจะไม่มีความสามารถกู้ใหม่ หรือบริโภคได้เต็มที่ ไม่ต้องพูดถึงการนำเงินไปเก็บออม เพราะจากการสำรวจ พบว่า

  • ครัวเรือนไทยร้อยละ 48.1 ไม่มีเงินออม
  • ส่วนที่เก็บเงินออมแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน มีสัดส่วนร้อยละ 13.8
  • กลุ่มมีเงินออม เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน มีประมาณร้อยละ 16
  • กลุ่มมีเงินออมสูง เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือน มีอยู่ร้อยละ 22.6

หากเทียบกับการเก็บออมเมื่อปีก่อน ผลสำรวจชี้ว่า ผู้บริโภคร้อยละ 46.8 มีการเก็บเงินออมลดลง

"แพทองธาร" ประกาศเดินหน้านโยบายแก้หนี้ครัวเรือน

ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศให้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็น 1 ความท้าทาย และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

หนึ่งปัญหาคือ คนมีหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถหาเงินก้อนใหม่ มาแก้ไขปัญหาหนี้ได้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางแก้ไขหนี้ประชาชน โดยจะมีการจัดทำ "อารีย์ สกอร์" นำข้อมูลของคนไทยอยู่แล้ว 60 ล้านคน มาจัดเป็น Balance Sheet เช่น มีทรัพย์สินเท่าใด รายได้เท่าไหร่ และรับสวัสดิการของรัฐอย่างไร ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด

จากนั้นให้ระบบ AI ประมวณคะแนนเครดิตของประชาชน จากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อให้คนที่ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร สามารถใช้เครดิตสกอริ่งขอสินเชื่อ จาก ธนาคารรัฐ 4 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อไปนำเงินรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ อย่างน้อยภาระการผ่อนของประชาชนจะลดลง

อ่านข่าวอื่น : 

"พิชัย" รับแล้วยังไม่มีเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2

น้ำโขงขึ้นสูง เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำ ชาวบ้านทิ้งข้าวของ-เร่งอพยพ

รุนแรงรอบ 60 ปี! น้ำสาละวินท่วมชุมชน-เร่งอพยพพระสงฆ์หนีน้ำ ภัยพิบัติ 14 ก.ย. 67 09:49 148 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง