สถานการณ์น้ำท่วมอ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ผ่านมา 5 วัน บางจุดน้ำเริ่มลดลง แต่ดินโคลนที่มากับน้ำป่าไหลหลากครั้งนี้ ยังเป็นเรื่องใหญ่ในการฟื้นฟูให้เมืองกลับมา
วันนี้ (15 ก.ย.2567) ไทยพีบีเอส ลงสำรวจถนนพหลโยธิน หน้าด่านแม่สาย - ท่าขี้เหล็ก จากภาพพอจะเห็นความวุ่นวายช่วงเช้านี้พอสมควร เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเร่งกับเวลา เก็บกวาดโคลนทั้งหมดที่กองอยู่บนถนน ระยะทาง 300 เมตรท่ามกลางสายฝน และยังมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่เสียหายจากการที่ถูกน้ำซัด อีกหลายสิบคัน ที่ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
อ่านข่าว "แพทองธาร" จ่อของบกลางเยียวยาน้ำท่วมเชียงราย
สภาพความเสียหายหลังน้ำท่วมอ.แม่สาย จ.เชียงราย 5 วัน
วันนี้เป็นวันที่ 2 ที่เปิดด่านแม่สายให้ประชาชนทั้งฝั่งแม่สาย และฝั่งท่าขี้เหล็ก สามารถข้ามไปมาได้ จึงทำให้ประชาชนฝั่งท่าขี้เหล็ก ข้ามมายังฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเดินลุยโคลนออกมาด้วยความลำบาก
โคลนอ่วมหนา 1 เมตร-กู้ภัยทำงานหนัก
ทุกหน่วยงานระดมรถตักดิน รถบรรทุก หลายคัน มาช่วยเคลียร์พื้นที่ แต่อย่างที่เห็นว่า ฝนที่ตกลงมา ส่งผลให้โคลนสภาพเป็นน้ำ ตักออกมาก็ไหลกลับไปที่เดิม หน่วยงานจึงขอระดมรถบรรทุกที่สามารถบรรทุกโคลนได้ มาช่วยกัน ในภารกิจนี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายนำรถมาช่วยหลายคัน
เจ้าหน้าที่นำรถมาตักโคลนหลังน้ำลดที่แม่สาย บางจุดโคลนหนา 1 เมตร
นอกจากนี้ยังระดมจิตอาสาจากหลายภาคส่วน ช่วยกันตักดินโคลนและเก็บขยะ เศษซากปรักหักพัง มีทั้งเศษไม้ เศษเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ที่ลอยมากับกระแสน้ำ
โคลนที่ถูกกระแสน้ำพัดมา หนาครึ่งล้อรถยนต์ บางจุดหนาเกือบ 1 เมตรเป็นอุปสรรค ที่ทำให้การเคลื่อนย้ายรถยนต์ที่จอดเสียหาย เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ภาพความเสียหายร้านค้า ไม่ใช่แค่บนถนนเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย แต่ร้านค้าที่อยู่ริมถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าด่านแม่สาย ก็จะได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน
อ่านข่าว "หมอภาคย์-บัวขาว" ฝ่าโคลนสูง 1 เมตรลุยน้ำเชี่ยวช่วยน้ำท่วม
เช่นร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง นำเสื้อผ้าที่เสียหายเปื้อนโคลน กองไว้หน้าร้าน เจ้าของร้านบอกว่า ข้าวของภายในร้ายเสียหายเกือบทั้งหมด ยกเว้นเสื้อผ้าที่ถูกแขวนไว้ หลังจากนี้ตัดสินใจจะเลิกกิจการแล้ว เพราะไปต่อไม่ไหว
ส่วนสถานการณ์น้ำในชุมชนที่ถูกน้ำท่วม แม้ว่าขณะนี้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่กระแสน้ำยังไหลเชี่ยว ปฏิบัติการกู้ภัยยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง
ล่าสุดทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เคลื่อนย้ายผู้ป่วย 5 คนจากหมู่บ้านชุมชนเกาะทราย การเคลื่อนย้ายใช้กำลังของ อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊งเดินเข้าไปแล้วนำตัว ผู้ประสบภัย ออกมาฝากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว
อ่านข่าว ดินโคลนถล่ม! ช่วยโรงเรียนบนดอย ครูเหลือเงิน 45 บาทดูแลเด็ก
กระแสน้ำยังไหลเชี่ยว
แพทองธาร ชงงบเยียวยาเข้าครม.17 ก.ย.
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระบุว่า มอบหมายให้กองทัพเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน นำอาหารไปแจกจ่าย ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งตามข้อมูลยังมีประชาชนเดือดร้อน ติดค้างรอความช่วยเหลืออีกกว่า 300 คน
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งมาตรการพิสูจน์สัญชาติ ก่อนจ่ายเงินเยียวยา จะหารือในการพัฒนาแอพทางรัฐ เพื่อเป็นช่องในการจ่ายเงินเยียว ยา ได้รวดเร็วถึงมือและป้องกันการทุจริตในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ขยายวงเงินช่วยน้ำท่วม 100 ล้าน
สำหรับเงินทดรองราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย วงเงินปกติ 20 ล้านบาท จ.เชียงราย คงเหลืออยู่ 9.11 ล้านบาทบาท ส่วนจ.เชียงใหม่ คงเหลือ 3.52 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์
ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งการอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ สามารถพิจารณาอนุมัติให้ใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัยได้ เพิ่มอีก 100 ล้านบาท
"อนุทิน" ขับเจ็ตลุยน้ำท่วมหนองคาย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย พร้อมนาย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จ.หนองคาย โดยเครื่องบินส่วนตัวไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี
ยืนยันว่า ทุกพื้นที่จังหวัดมีการเตรียมพร้อมรับมือเป็นอย่างดี รวมถึงการระดมความช่วยเหลือก็มีความพร้อมเช่นกัน แต่สิ่งที่กังวลปัจจุบันคือปริมาณน้ำ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย
ส่วนการเยียวยาประชาชน นายอนุทิน กล่าวว่า คำว่าเยียวยามันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ใช่การชดใช้ และเชื่อว่าจากการที่น.ส.แพทองธาร ลงพื้นที่เชียงราย ก็ได้เร่งอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทันที ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายจังหวัดละ 100 ล้านบาท และยังมีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการคลังไปดูแนวทางการเยียวยาบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายควรออกมาในรูปแบบใด
โดยขอให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
อ่านข่าว
น้ำโขงขึ้นสูง เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำ ชาวบ้านทิ้งข้าวของ-เร่งอพยพ