เป็นความผิดหวังซ้ำซากของพรรคประชาชน หลังจากแพ้เลือกตั้งท้องถิ่นนายกฯ อบจ.ราชบุรี กระทั่งเลือกตั้งซ่อมสส.เขต 1 พิษณุโลก ฐานที่มั่นเดิม 2 สมัยของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาฯ
แม้จะระดมแกนนำ ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายชัยธวัช ตุลาธน กระทั่งพรรคประชาชน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พร้อมตัวตึงครบครัน ลงพื้นที่หาเสียงลงแล้วลงอีก จบข้ออ้างเรื่องมีเวลาหาเสียงน้อย เพราะมีเวลาเท่ากัน
ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย แม้การหาเสียงจะไม่ได้มีผู้บริหารชุดใหญ่ของพรรค รวมทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จัดทัพลงไปช่วย แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำภาคเหนือตอนล่างและรับบทเป็น ผอ.เลือกตั้ง นำพาทีมจาก จ.สุโขทัย ไปลุยช่วยแบบเกาะติด
สามารถเรียก “ความขลัง” ของตนให้กลับคืนมาได้ หลังจากพลาดในหลายพื้นที่ที่ดูแลในการเลือกตั้งปี 2566 โดยมีทีมเสริมบางส่วนจากพรรค อาทิ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักฯ และแกนนำเสื้อแดงอย่างนายวรชัย เหมะ
แต่ไม่วายยกความสำเร็จครั้งนี้ ไปให้ผู้นำรัฐบาลคนใหม่และหัวหน้าพรรค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน รวมทั้งชาวเมืองพิษณุโลก จนช่วยให้นายจเด็ศ จันทรา ได้เป็น สส.คนใหม่ ปักธงจ.พิษณุโลกเขต 1 ได้ ในรอบ 20 กว่าปี
ความจริง จ.พิษณุโลก ถือเป็นจังหวัดที่มีอาถรรพณ์สำหรับพรรคเพื่อไทย รวมไปกระทั่งทุกพรรคการเมือง เพราะเป็นจังหวัดที่ประชาชน มีความเป็นประชาธิปไตยที่หลากหลาย รวมทั้งการเลือก สส.
เพราะไม่เคยมีปรากฏว่า พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว จะสามารถปักธงกวาด สส.ได้ยกจังหวัดเลย หากไม่นับตั้งแต่มีสส.คนเดียวหรือ 2 คน นับตั้งแต่เลือกตั้งปี 2500 เป็นต้นมา คนจังหวัดพิษณุโลก จะเลือก สส.ต่างพรรคกัน เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนทุกครั้ง
แม้แต่ในปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ภายหลังการควบรวมอีก 3 พรรคเข้ามาด้วย คือความหวังใหม่ เสรีธรรม และชาติพัฒนา จะชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้ สส.พรรคเดียวถึง 377 คน หลายจังหวัดได้เหมารวมแบบยกเข่ง แต่ที่พิษณุโลก มี สส. 6 เขต ยังถูกแชร์จากพรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง จาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายนคร มาฉิม
หรือแม้แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่จุดกระแส “เลือกความสงบจบลงที่ลุงตู่” พรรคพลังประชารัฐที่มีปัจจัยเกื้อหนุนสาระพัด และยังมี เสธ.คนดัง นายหิมาลัย ผิวพรรณ ช่วยดูแล ยังได้สส.แค่ 2 คนจาก 5 คน
ผลจากเลือกตั้งซ่อมเขต 1 พิษณุโลก สะท้อนให้เห็นคะแนนนิยมของพรรคประชาชนที่ต่อเนื่องจากพรรคก้าวไกล เริ่มมีปัญหา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอาจประเมินผลงาน และคะแนนเสียงในพรรคเข้าข้างตัวเองมากไป ทั้งที่ไม่ได้โดดเด่นมากนักสำหรับชาวพิษณุโลก
แม้นายปดิพัทธ์ จะได้เป็นรองประธานสภาฯ แต่อยู่ปีกฝ่ายค้าน ขณะที่ความโดดเด่นด้านคุณสมบัติที่เป็นจุดขายของนายณัฐพงษ์ หากเทียบกับนายธนาธร และนายพิธา ยังห่างกันพอสมควร
ขณะที่โมเดลการจับมือร่วมกันเฉพาะกิจของบ้านใหญ่หรือกลุ่มหัวคะแนนสำคัญในพื้นที่แบบ “รุมกินโต๊ะ” ยังถูกนำมาใช้และได้ผล เพราะเป็นการสู้กันของผู้สมัครเพียง 2 คน 2 ขั้ว ประกอบกับเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จึงได้เปรียบด้านกลไกอำนาจรัฐอยู่ในที ประกอบกับบารมีและชื่อชั้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แม้โพลบางสำนักจะชี้ว่า จะส่งผลในทางลบต่อพรรคเพื่อไทย แต่ในทางปฏิบัติ อาจเป็นเฉพาะบางพื้นที่
อีกทั้งปัจจัยแกนนำในพรรคเพื่อไทย ต่างก็ต้องแสดงศักยภาพให้ปรากฏ เพื่อรับประกันตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ให้สั่นคลอน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีคนรอต่อคิวนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอีกมาก เห็นได้จากเก้าอี้รัฐมนตรีกลายเป็นเก้าอี้ดนตรีผลัดเปลี่ยนคนนั่งไปแล้ว
สำหรับนายสมศักดิ์ต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดา แม้จะเคย “ขาลอย” ใน ครม.นายเศรษฐา ทวีสิน 1 / 1 เพราะนั่งเป็นรองนายกฯ อย่างเดียว แต่ช่วงแรกมีผลงานโดดเด่นในฐานะที่ดูแลกระทรวงยุติธรรม
และความจริงต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรียุติธรรม สมัยรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ว่าได้ ทำให้การปรับครม.เศรษฐา 1 / 2 ได้ไปนั่งกระทรวงสาธารณสุข และมั่นคงจนกระทั่งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร
ผลเลือกตั้งซ่อมสส.หนนี้ถือเป็นผลงานการประสานสิบทิศ และประสบชัยชนะต้อนรับนายกฯคนใหม่ ทำให้ น.ส.แพทองธาร ยิ้มได้ตั้งแต่ต้น จึงจะเป็นทั้งแรงหนุนและแรง ส่งสำหรับนายสมศักดิ์ บนเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะมั่นคงแข็งแรงต่อไป
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : แม่น้ำโขงเอ่อท่วมชุมชนริมน้ำ "บ้านแพง" นครพนม