ไทยเดินหน้าขยายป่าชุมชน บรรลุเป้าหมาย "ข้อตกลงปารีส" ลดโลกร้อน

สิ่งแวดล้อม
18 ก.ย. 67
17:39
120
Logo Thai PBS
ไทยเดินหน้าขยายป่าชุมชน บรรลุเป้าหมาย "ข้อตกลงปารีส" ลดโลกร้อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส

ประเทศไทยร่วมลงนามใน "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตัน เทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580

นอกจากนี้ไทยได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เพื่อจะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 หรือเป้าหมาย 30x30

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานเสวนา "ปลูกป่า ปลูกคน : ทางเลือก ทางรอด Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024" โดยระบุว่า หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี 

การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้ง 2 ปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้

ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่า 10,000 คน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่าง ๆ ในระยะยาว

ตั้งเป้าขยายป่าชุมชน 1 ล้านไร่ในปี 70

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน

ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม 

สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย "ปลูกป่า ปลูกคน" นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ ในขณะที่การแสวงหาคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า

เป้าหมายสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ"

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมา ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส จะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปสู่การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับประชาคมโลก

รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับรอง กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรลุพันธกิจปี 2030 และวิสัยทัศน์ ปี 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ดังนี้

  • เป้าประสงค์ A เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ
  • เป้าประสงค์ B ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ
  • เป้าประสงค์ C แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
  • เป้าประสงค์ D แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดําเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050

ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการวางกรอบกฎหมาย กลไก และเครื่องมือในภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นและเหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย.2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันในการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025

เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงต้องช่วยกันดูแล และส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป

ภายในงานยังพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเอกชนเพื่อนำกลยุทธความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย เป็นต้น และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯยังมุ่งมั่นต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนควบคู่กับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากระบบนิเวศเป็นแนวทางในการปรับตัว

การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก "สุทธิเป็นศูนย์" จาก อบก. โดยมีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในงานด้วย "คาร์บอนเครดิตจากการอนุรักษ์ป่าไม้" ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จ.เชียงราย

อ่านข่าว : ใครเสี่ยงบ้าง แนะสังเกตอาการ "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"

ใครเกิดทันบ้าง? ย้อนอดีตรู้จัก "เพจเจอร์" เครื่องมือสื่อสารยุค 90

พ่อ-แม่-ลูกสาว เสียชีวิตในบ้านเช่า จ.ระยอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง