- ปภ.เริ่มแล้ว ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 24 ชม.
- เขื่อนรัชชประภา แจงไม่มีแผ่นดินไหว หลังเกิดเสียงดังปริศนาที่สุราษฎร์
วันนี้ (20 ก.ย.2567) คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี ซึ่งมีฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งสิ้น 15 คน เพื่อหารือถึงการพิจารณาผลการกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
หลังจากในการประชุมวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้าง ได้ลาประชุมทั้งหมด จึงไม่ได้หารือถึงประเด็น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
โดยหลายฝ่ายจับตามองไปที่ฝ่ายนายจ้าง 5 คน จะเข้าประชุมหรือไม่ เพราะที่เรื่องนี้ค้างคามาจากการประชุมครั้งก่อน ก็เพราะฝ่ายนายจ้าง ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงหรือไม่
ฝ่ายนายจ้าง ชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาได้แจ้งที่ประชุมแล้วว่า ฝ่ายนายจ้าง 5 คน ติดภารกิจ แต่ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานที่ประชุม ยืนยันว่า ต้องจัดประชุมในวันนั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้ นายจ้างตั้งข้อสังเกตว่า นี่กำลังมีใครเล่นเกมข้อกฎหมายหรือเปล่า และวันนี้จะเข้าร่วมประชุมแล้ว การเมืองก็ต้องอย่ามา แทรกแซงการพิจารณาค่าจ้าง
ความเห็นต่างขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท
นายเอกชัย วงศ์วรกุล ผู้ประกอบการโรงแรมและปั้มน้ำมันใน จ.แพร่ ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ว่า หากมีปรับขึ้นค่าแรงจริงจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจเพราะในขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และผู้ประกอบการเองก็เดือดร้อน
ขณะที่นายธนิต ชุมแสง ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า การขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมาทางร้านก็ได้จัดสวัสดิการให้กับพนักงานอาทิ จัดเลี้ยงอาหารวันละสองมื้อ ซึ่งมีต้นทุนค่าอาหารมื้อละ 30 บาทต่อคน นอกจากนี้ยังจัดทำชุดฟอร์มให้สวมใส่อีกด้วย ขณะที่ช่วงนี้เป็นช่วงโลซีซัน มีผู้มาใช้บริการน้อยแต่ค่าแรงกลับมาขึ้นอีก
ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารใน จ.ตรัง ไม่เห็นด้วยปรับค่าจ้าง 400 บาททุกประเภทกิจการ แต่ควรพิจารณาเป็นรายกิจการ ซึ่งธุรกิจร้านอาหาร ดูแลลูกจ้างอย่างเต็มที่อยู่แล้ว มีอาหารวันละ 2-3 มื้อ และต้องพิจารณาจากฝีมือและประสบการณ์ด้วย
สำหรับ จ.ปัตตานี ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดของประเทศ ซึ่งพนักงานโรงน้ำแข็ง ระบุว่าหากปรับขึ้นเป็น 400 บาทจริง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่กังวลว่าค่าครองชีพ จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต่างกังวลต่อการขึ้นค่าแรง 400 บาท เพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่ราคาแพงขึ้น ทางร้านจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาค่าอาหาร ท้ายสุดก็จะกระทบผู้บริโภค
ค่าแรง 400 บาท เป็นการตอบโจทย์นโยบายหาเสียง
รศ.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการผลักดันนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นการตอบโจทย์นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง
ซึ่งจากการปรับค่าแรงเมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมากซึ่งเป็นการปรับค่าแรงบางธุรกิจ และบางพื้นที่ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบเพราะธุรกิจส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงงานเกินค่าแรงอยู่แล้ว อาจจะมีผลกระทบแค่เพียงบางส่วน
สำหรับคราวนี้ปรับขึ้น 400 บาท ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้กระทบ แต่ประกาศเพื่อตอบโจทย์ แต่ในความเป็นจริงจ่ายเกินอยู่แล้ว
ถ้าดูฝั่งแรงงานค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่วนฝั่งธุรกิจก็ได้รับผลกระทบในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ก็จะผลักภาระไปยังผู้บริโภค แต่เป็นผู้ประกอบการส่งออก ก็จะเสียความสามารถในการแข่งขันไป สุดท้ายจะส่งผลต่อตัวแรงงาน ในเรื่องการถูกเลิกจ้าง หรือถูกตัดสวัสดิการ
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงจะมีผลด้านบวก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนก็สูงขึ้น ธุรกิจในประเทศจะมียอดขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับแรงงาน ยิ่งถ้านายจ้างงานสามารถเชื่อมโยงการรีสกิลหรืออัพสกิลให้กับแรงงานไปด้วย จะทำให้ลดต้นทุนได้ในระยะยาว
รศ.กิริยา ยังระบุว่า เป้าหมายคือการยกระดับฝีมือแรงงาน แต่ตอนนี้ยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะการฝึกฝีมือต้องใช้เวลา ดังนั้นต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มทักษะ พร้อมๆ พัฒนาฝีมือ ขณะเดียวกันช่วยเรื่องค่าครองชีพไปด้วย ซึ่งการช่วยค่าครองชีพไม่ใช่เฉพาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว ภาครัฐสามารถช่วยในด้านอื่นๆ ได้ด้วย
อ่านข่าว :
"พิพัฒน์" เดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 เร่งสรุปมาตรการเยียวยานายจ้าง