“ฟู้ดสไตล์ลิสต์” ผู้รังสรรค์ศิลปะบนจานอาหาร
นำใบหัวปลีมาตกแต่งเพิ่มมิติให้จานผัดไทกุ้งลายเสือดูโดดเด่น และใช้หัวและหางกุ้งตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อบอกชนิดเนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงอาหาร ทั้งยังเพิ่มลูกเล่นให้อาหารน่ากินขึ้น 1 ในเมนูเด่นประจำร้านร้านที่เตรียมมาชูตติ้งทำภาพนิ่งประกอบเมนู
เพราะต้องทำให้ดูน่ากินที่สุด อาหารที่ตกแต่งมาแล้วจากครัวจึงอาจไม่พอ ต้องใช้ฝีมือ "ฟู้ดสไตลิสต์" นักออกแบบจานอาหาร ช่วยจัดองค์ประกอบตกแต่งให้อาหารดูดึงดูดขึ้น ซึ่ง "พัธนะ สุวรรณโคตร์" ฟู้ดสไตลิสต์ เลือกใช้ใบต้นหอมโรยเพิ่มสีเขียวตัดกับสีส้มอ่อนๆ ของเนื้อกุ้ง ให้ผัดไทกุ้งลายเสื้อมีสีสันขึ้นแต่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป เพิ่มความมันวาวให้กุ้งด้วยน้ำมันมะกอก ไม่เพียงใช้ความรู้ด้านอาหาร แต่ฟู้ดสไตลิสต์ยังต้องมีศิลปะ รู้จักดึงจุดเด่นของอาหารแต่ละจานด้วย
นำหลักพื้นฐานเรื่องสีมาใช้ด้วยการเพิ่มสีเขียวจากผักชี และสีแดงของพริก ทำให้เนื้อปลากระพงทอดสีน้ำตาลเข้มดูสดใสขึ้น แต่ยังคุมโทนสีธรรมชาติไว้ พัธนะแนะนำว่าอาหารแต่ละจานควรมีไม่เกิน 3 สี โดยมีสีหลักและสีรองเพื่อไม่ให้สีแย่งกันเด่น
อาชีพฟู้ดสไตลิสต์ นอกจากต้องรักศิลปะและมีจินตนาการ ยังต้องติดตามเทรนด์อาหาร พัฒนาการตกแต่งจานอาหารให้เข้าสมัย และเข้าใจรสนิยมของผู้กิน
อาหารก็เหมือนนางแบบที่สไตลิสต์ต้องตกแต่งให้น่ามอง เพราะรูปลักษณ์คือปราการด่านแรกที่จะเชิญชวนให้อยากลอง ร้านอาหารจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการตกแต่งจานอาหารมากขึ้น วัฒนธรรมการกินที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับรสชาติ ซึ่งบอกกันปากต่อปาก ความสวยงามของอาหารยังเป็นไลฟ์สไตล์ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน