- ห้าม! ทายาสีฟันในแผลโดนเตารีด ความเชื่อผิด ๆ ที่อันตราย
- เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสาร "ไฟไหม้รถบัส" เรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้บ้าง
ด้วยความเร่งรีบ และหลีกหนีการจราจรที่ติดขัด จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ขับขี่ "รถจักรยานยนต์" มักที่จะใช้ทางลัดหรือขับขี่ในเส้นทางที่อาจไม่ปลอดภัย หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น วิ่งเลนขวาสุด, ขับขี่ย้อนศร หรือ แม้กระทั่งใช้ช่องทางแคบ ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการขับขี่
รวมถึงการใช้สะพานลอยข้ามแยก หรือ ลงอุโมงค์ลอดแยก เพื่อเลี่ยงการติดไฟแดงและใช้เส้นทางที่อ้อมไปไกลแต่สิ่งที่ตามมา คือ การกระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือ นำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้
สุดเสี่ยง รถจักรยานยนต์วิ่งขึ้นสะพาน-ลอดอุโมงค์
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนสะพาน หรือ ทางลอดอุโมงค์ ในบางพื้นที่ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและการจัดการจราจร เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่
ความเร็วที่แตกต่างกัน : ความเร็วที่แตกต่างระหว่างรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่รถยนต์ใช้ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียการทรงตัวหรือลื่นล้ม ยิ่งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นด้วย
ความเร็วที่เกิดเหตุ : ความเร็วที่แตกต่างระหว่างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็ย่อมมากไปด้วย แรงปะทะอาจทำให้รถเสียหลักไปชนสิ่งกีดขวาง เช่น แบริเออร์หรือชนกับรถคันอื่น และอาจประกอบกับ ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ต่างจากรถยนต์ที่มีโครงรถ อุปกรณ์ที่ลดแรงปะทะ ซึ่งสามารถป้องกันแรงปะทะได้มากกว่ารถจักรยานยนต์
ลักษณะทางกายภาพของถนน : บางสะพานมีช่องทางเดินรถที่แคบ บางแห่งสะพานมีระยะทางยาว หากเป็นทางโค้งอาจทำให้ระยะการมองเห็นมีปัญหา เมื่อรถยนต์วิ่งมาด้วยความเร็วอาจมองไม่เห็นรถจักรยานยนต์ที่อยู่ข้างหน้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ให้เกิดการชนขึ้นได้
การขับขี่คู่ระหว่างรถจักรยานยนต์กับรถบรรทุก : เมื่อรถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็ว จะมีกระแสลมเวลาวิ่งด้วยความเร็ว เป็นลมดูด ลมกระโชก ทำให้รถจักรยานยนต์เสี่ยหลักหรืออาจดูดเข้าไปใกล้กับรถ เพราะฉะนั้นรถจักรยานยนต์ จึงไม่ควรขับตีคู่กับรถบรรทุก เพื่อความปลอดภัย นั้นเอง
ข้อมูลศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลสะสมปี 2567 จำนวน 10,770 คน รถจักรยานยนต์เป็น 2 ใน 3 หรือประมาณ 82% และ ฌแพาะ วันที่ 11 ต.ค.2567 มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บ 1,256 คน
อ่านข่าว : ไทยอยู่ตรงไหน "ความปลอดภัย" บนถนนทั่วโลก ?
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ "ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ.2559" โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2559
สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวนี้ คือ การควบคุมจราจรในพื้นที่สะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก โดยลักษณะของสะพานข้ามและอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สำหรับรถขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถสามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อบ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับรายละเอียดข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร นั้น มีสาระสำคัญคือ ห้ามรถจักรยานยนต์, รถจักรยาน, รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำ 39 แห่ง ดังนี้
"สะพาน" ห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้น
สำหรับสะพาน 39 แห่งที่ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก ได้แก่ 1. สะพานยกระดับข้ามแยกคลองตัน 2. สะพานยกระดับข้ามแยกอโศก-เพชร 3. สะพานข้ามแยกรามคำแหง 4. สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์ 5. สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง 6. สะพานข้ามแยกตึกชัย 7. สะพานข้ามแยกราชเทวี 8. สะพานข้ามแยกประตูน้ำ 9. สะพานข้ามแยกยมราช 10. สะพานข้ามแยกกำแพงเพชร
11. สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว 12. สะพานข้ามแยกสุทธิสาร 13. สะพานข้ามแยกรัชโยธิน 14. สะพานข้ามแยกประชานุกูล 15. สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง 16. สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน 17. สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์ 18. สะพานยกระดับข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคำแหง 19. สะพานยกระดับข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคำแหง 20. สะพานยกระดับข้ามแยกมีนบุรี
21. สะพานข้ามแยกบรรจุสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร 22. สะพานข้ามแยกลำสาลี 23. สะพานยกระดับถนนรามคำแหง 24. สะพานข้ามแยกศรีอุดม 25. สะพานเข้ามแยกประเวศ 26. สะพานข้ามแยกบางกะปิ 27. สะพานไทย-เบลเยียม 28. สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่
29.สะพานข้ามแยกรัชดา-พระราม 4 30. สะพานภูมิพล 1 31. สะพานข้ามแยกคลองตัน 32. สะพานข้ามแยกศิครินทร์ 33. สะพานไทย-ญี่ปุ่น 34. สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี 35. สะพานข้ามแยกบางผลัด 36. สะพานข้ามแยกพระราม 2 37. สะพานข้ามแยกตากสิน 38. สะพานข้ามแยกนิลการ 39. สะพานข้ามแยกบางพฤกษ์
5 "อุโมงค์" ห้ามรถจักรยานยนต์ลง
นอกจากนี้ ห้ามรถจักรยานยนต์, รถจักรยาน, รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ดังนี้
1. อุโมงค์วงเวียนบางเขน
2. อุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม
3. อุโมงค์ทางลอดแยกบรมราชชนนี
4. อุโมงค์ทางลอดแยกบางพลัด
5. อุโมงค์ทางลอดแยกท่าพระ
เหตุผลในการบังคับใช้กฎหมาย
สรุป คือ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว นั้นเพราะสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก สร้างขึ้นเพื่อใช้สําหรับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางร่วมทางแยกและบนถนนที่มีการจราจรคับคั่ง โดยลักษณะทางกายภาพของสะพานข้ามและอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สําหรับรถขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์รถจักรยาน รถยนต์สามล้อและล้อเลื่อนลากเข็น
หากรถประเภทดังกล่าว เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับสะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ทําให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจร เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล : สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
อ่านข่าว : วันสุขภาพจิตโลก 2567 ปรับ Mindset ปลดล็อกใจทุก (ข์) มนุษย์ออฟฟิศ
ก้าวข้ามการสูญเสีย How to เยียวยาความเศร้าใน "หัวใจเด็ก"
รถถูกขโมย "ประกัน" จ่ายหรือไม่ ? คำตอบที่เจ้าของต้องรู้