วันนี้ (14 ต.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศครบรอบ 51 ปี งานรำลึก 14 ตุลา ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ปี 2567 โดยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขา ธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯกทม.ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนวีรชน ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน ผู้แทนเยาวชน ตัวแทนพรรคการเมือง มาร่วมวางพวงมาลาอย่างพร้อมเพรียง
นายสมคิด กล่าวสุนทรพจน์ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ของไทย ที่แสดงให้เห็นถึงพลัง และความมุ่งมั่นของผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ประเทศมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี ความปรองดอง ใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกัน รับฟังเสียงข้างน้อย และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง
อ่านข่าว ตร.เปิด 3 ช่องทางแจ้งความ "ดิไอคอนกรุ๊ป" ยอดเสียหาย 740 คน
"ณัฐพงษ์" ยอมรับคมหอก สานต่อรธน.ฉบับประชาชน
ส่วนนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นตัวแทนวางพวงหรีด และกล่าวรำลึก และน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนพรรคประชาชน และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ตัวแทนคณะก้าวหน้า ร่วมงานโดยพวงมาลาของพรรคประชาชน ยังได้มีข้อความที่ระบุว่า
เจ้าพระยาสวยงามทุกยามเห็น สวยเช่นชีวาผู้กล้าหาญ
ขณะเดียวกันพวงมาลา ของคณะก้าวหน้า ก็ระบุข้อความว่า
กระแสเสรีหมายถึงสายธาร จะซึมซ่านฉ่ะแฉะแดนเลี้ยงแผ่นดิน
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน
นายณัฐพงษ์ กล่าวรำลึกว่า เหตุการณ์ในวันนี้ ไม่ได้มาเพียงแต่รำลึกความเสียสละการต่อสู้ของวีรชนอย่างเดียวเท่านั้น ที่สำคัญคือรำลึกถึงวัตถุประสงค์ความเป็นมาถึงข้อต่อสู้ข้อเรียกร้องของประชาขนในอดีตว่า เขาต้องลงท้องถนนมาต่อสู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เพราะอะไร
ในวัย 37 ปี ถ้าจะให้มากล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดไม่ทัน บอกได้ว่าตนเดียงสาทางการเมือง สิ่งที่มีร่วมกับทุกคน คือเจตจำนงทางการเมือง ต้องพัฒนาการเมืองประเทศในการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้าแม้ไม่ได้อยู่ร่วมต่อสู้
อ่านข่าว จับคาร้านหมูกระทะ จนท.รัฐ หลบหนีคดีลักเงินหลวง 10 ล้านบาท
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังไปไม่ถึง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ การคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้ และถูกเล่นงานกันแกล้งคดีทางการเมือง ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออีกหลายกรณี เช่น หลายคนที่เป็นจำเลยในคดี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังหลบหนีอยู่ ยังไม่ถูกนำตัวมาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีต สอนว่าวันนี้กระบวนการประชาธิป ไตยของไทย อาจจะยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน เชื่อว่ารัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติทำหลายสิ่งหลายอย่างควบคู่กันได้
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายฝ่าย หลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลเห็นด้วยตรงกันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว แต่ติดเรื่องการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 จึงอยากให้ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา
เชื่อว่าถ้าเดินหน้าการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง ก็ทำรัฐธรรมนูญได้ทัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการถ่วงดุล และตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เฉพาะ 14 ตุลาก็มีการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อตนก้าวเท้าเข้ามาสู่การเมืองแล้วก็พร้อมที่จะลับคมหอกคมดาบ
ชี้บทเรียนวีรชนผู้กล้า
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาเนื่องในวาระครบรอบ 51 ปีว่า เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพ และประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ
แม้ว่าการต่อสู้ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ ปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพ
เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา เป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ย้ำเตือนให้ได้ตระหนักภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ
ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง
อ่านข่าว "หนุ่ม-กรรชัย" พาผู้เสียหายบุก CIB ร้อง "ดิไอคอน"
"ชัชชาติ" ชี้ปชช.จุดคบเพลิงประชาธิปไตย
นายชัชชาติ กล่าวรำลึก และร่วมวางพวงมาลาตอนหนึ่ง ว่า สิ่งที่จะพูดคือ อย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ที่ผ่านมาประชาชนเป็นคนจุดคบเพลิงนี้แล้ว เชื่อว่าหน่วยงาน องค์กร องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ต้องมีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยและคิดถึงประชาชนด้วย
ประชาธิปไตยไม่ใช่ความหมายแค่วันเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่ความหมายคือตื่นเช้าขึ้นมาคิดถึงประชาชนและเข้าไปดูแลประชาชนหรือไม่ ต้องฝากเตือนพวกเราทุกคนที่ได้รับผลจากการเสียสละของวีรชน ให้คิดถึงประชาชนและอย่าปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยว ขอให้ร่วมมือและทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
กทม.พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สิ่งที่ท่านวีรชนทั้งหลายได้เสียไปเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ทั้งชีวิต ครอบครัว สิ่งต่าง ๆ ต้องสูญเปล่า เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด