ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปกป้องวิถีชีวิตแม่โขง ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง

ต่างประเทศ
1 พ.ย. 67
10:12
216
Logo Thai PBS
ปกป้องวิถีชีวิตแม่โขง ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผู้นำประเทศตอนล่างแม่น้ำแม่โขงจะประชุมที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ในวันที่ 7 พ.ย.2567 นี้ มีนัยยะสำคัญมาก เพราะอนาคตอนุภูมิภาคแม่โขงกำลังเผชิญวิกฤตนานัปการ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วม อากาศแปรปรวน และสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาจจะทำให้แม่น้ำโขงที่เป็นสายน้ำพึ่งพาของคน 60 กว่าล้านที่อาศัยตาม ลำน้ำนี้ต้องเดือดร้อน

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ไทยมีแผนจะผลักดันแม่บทเรื่องการจัดการ ทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังในเรื่องนี้

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS ) Ayewaddy-Chaophraya-Mekong-Economic Cooperation Strategy) เป็นโครงการความร่วมมือในระดับภูมิภาคย่อยที่ประกอบด้วยไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ACMECS มุ่งเน้นการส่งเสริมการเชื่อมโยง ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเป็นหลัก

ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว สมาชิก ACMECS ต้องร่วมมือเหนียวแน่นเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มี อุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งมากสร้างความเสียหายอย่างใหญ่ต่อเกษตรกรรมและทรัพย์สินในภาคเหนือไทยและสมาชิกแม่น้ำโขงจำนวนมหาศาล

ถ้าสมาชิก ACMECS ยังปล่อยปละละเลยเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ จะทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคนี้ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ไทยต้องการผลักดันให้ประเทศเป็นหุ้นส่วนของแอคเมคสนับสนุนทางด้านเงินและสร้างขีดความสามารถให้กับชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง

ตอนนี้สมาชิก (ACMECS Development Partners) หุ้นส่วนด้านการพัฒนา ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ในการประชุมที่เมืองคุนหมิงจะรับนิวซีแลนด์เป็นประเทศหุ้นส่วนด้านพัฒนาเพิ่มอีกหนึ่งประเทศ

แผนปฏิบัติการของ ACMECS มีสามเสาหลัก คือ 1.การเชื่อมโยง (Connectivity) ในด้านต่าง ๆ เช่นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงเครือข่ายถนน ทางรถไฟ และอากาศยาน เพื่ออำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายของคน ส่วนทางด้านการเชื่อมโยงทางดิจิทัลมุ่งเน้นขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์ เน็ต รวมทั้งการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงด้านพลังงาน พัฒนาเครือข่ายพลังงานข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน รวมถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียน และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคย่อย

2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร เสริมสร้างแนวทางการเกษตร ปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหาร โดยมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวก็รวมอยู่ในบริบทนี้เช่นกัน

และ 3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (Human Resource Development and Economic Competitiveness) มุ่งเน้นการฝึกอบรมแรงงานและการศึกษา มีการยกระดับการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ การศึกษา และการพัฒนาทักษะ เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานและเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน

แผนปฏิบัตินี้จะมีการทบทวนในระหว่างการประชุมสุดยอด ACMECS ที่คุนหมิง สมาชิกจะประเมินความก้าวหน้าและปรับเปลี่ยนตามความต้องการของภูมิภาคและการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ข้อเสนอของไทยในการจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกัน ความยั่งยืน และการใช้ข้อมูลเป็นฐาน เนื่องจากแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อการเกษตร ประมง และแหล่งน้ำดื่มของชุมชน ไทยจึงส่งเสริมยุทธศาสตร์ร่วมกันที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศทั้งในส่วนต้นน้ำและปลายน้ำ

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยได้เคยสัญญาว่าจะตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมแผนปฏิบัติงานของ ACMECS แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณให้ จึงมีความคิดที่จะแยกกองทุนนี้ออกมาเป็นห้าส่วน ส่วนละ 40 ล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในโครงการที่เร่งด่วนก่อน

ข้อเสนอหลักของไทยประกอบด้วย การจัดตั้งระบบแบ่งปันข้อมูลที่ครอบคลุม ไทยเสนอให้มีแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามและแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระดับอ่างเก็บน้ำระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำนายล่วงหน้าและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและการขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน

นอกจากนั้นไทยได้เสนอ การพัฒนาระบบสร้างแบบจำลองร่วมกันเพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ภาวะน้ำท่วม และภัยแล้ง ช่วยให้ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมได้ดียิ่งขึ้น ส่วนแผนดำเนินการตามข้อปฏิบัติร่วมกันในการจัดการน้ำ ข้อเสนอของไทยเน้นการประสานงานการดำเนินงานของอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่ตั้งใจในส่วนปลายน้ำ โดยรวมถึงการสร้างข้อตกลงในการปล่อยน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งหรือสภาวะภัยแล้ง เพื่อให้มีการกระจายทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียม

ส่วนทางด้านแผนการจัดการอุทกภัยและภัยแล้วนั้น มีการกำหนดแนวทางการจัดการเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วข้ามพรมแดน โดยมีแผนเฉพาะเพื่อการตอบสนองร่วมกันต่อปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต้นน้ำสามารถควบคุมการปล่อยน้ำในช่วงฝนตกหนักและเก็บกักน้ำในช่วงแห้งแล้ง

การปกป้องระบบนิเวศและการดำรงชีวิตเป็นส่วนหนี่งของแม่บทไทย ซึ่งประกอบด้วยโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ช่วยรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำ เช่น การสร้างทางสัญจรของปลาและการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพและการประมงในท้องถิ่น ไทยยังมีโครงการสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำ เช่น การฝึกอบรมเพื่อการประกอบอาชีพทางเลือกให้แก่ชุมชนที่พึ่งพาการประมง

ประเด็นสุดท้าย คือ การส่งเสริมข้อตกลงพหุภาคีและการกำกับดูแล โดยเสริมสร้างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission)ให้อำนาจและเงินทุนของ MRC มากขึ้น เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎเกณฑ์ แก้ไขข้อพิพาท และดูแลการดำเนินการตามแผนการจัดการน้ำ

ข้อเสนอของไทยสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะปกป้องและส่งเสริมวิถีชีวิตแม่โขงอย่างเป็นรูปธรรม ไทยเป็นผู้นำในการสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พร้อมกับให้ความสำคัญกับความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศต่างเกือบยี่สิบประเทศที่ต้องการเข้ามาพัฒนาแม่โขงนั้นต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของกลุ่ม ACMECS เสียก่อน

อ่านข่าว : “เจ๊อ้อย” ให้ปากคำนาน 12 ชม. มั่นใจไม่ได้ให้ 71 ล้านบาทโดยเสน่หา

ไต้ฝุ่น "กองเร็ย" ถล่มไต้หวัน รุนแรงสุดในรอบหลายสิบปี

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขรก.ในพระองค์-พระราชทานยศ 2 พลตรีหญิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง