ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Make America Great Again เบื้องหลังทรัมป์"คืน"ทำเนียบขาว

ต่างประเทศ
6 พ.ย. 67
16:39
25
Logo Thai PBS
Make America Great Again เบื้องหลังทรัมป์"คืน"ทำเนียบขาว

ประกาศชัยเข้าทำเนียบขาว เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน โดยสามารถเอาชนะ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต

โดยวันนี้ (6 พ.ย 2024) สามารถเอาชนะในศึกเลือกตั้ง "วุฒิสภา" หรือสภาสูงของสหรัฐได้สำเร็จ ถือเป็นชัยชนะในสภาสูงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ซึ่งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง 34 ที่นั่ง จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง หลังชนะในรัฐ "เวสต์เวอร์จิเนีย" และ "โอไฮโอ" ส่งผลให้ขั้วพรรคสีแดงได้ครองอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติของสภาคองเกรสสหรัฐไปแล้วอย่างน้อย 1 สภา

"Make America Great Again" คือ ข้อความภาษาอังกฤษสีแดงโดดเด่น ปักอยู่ที่หมวกแก๊ป ซึ่ง "ทรัมป์" สวมอยู่บนศีรษะขณะเดินทางมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา (5 พ.ย.2024) แปลความว่า "จะทำสหรัฐอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" วลีนี้เป็นแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์มาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี รวมถึงปี 2016 ที่ "ทรัมป์" พ่ายให้กับ " โจ ไบเดน" โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแคมเปญ "Let’s Make America Great Again" เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) ของประเทศในช่วงปี 1980 ของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน

มองผิวเผิน หมวกก็แค่อุปกรณ์เสริมการแต่งกายเท่านั้น แต่ข้อความและสีแดงที่โดดเด่น ถือว่า เป็นการแสดง "สัญญะทางการเมือง (Political Symbol)"โดยมีนัยสำคัญแฝงไว้อย่างเด่นชัด

MAGA เศรษฐกิจ- สู่การเหยียดสีผิว

ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การเกิดขึ้นของ Make America Great Again หรือเรียกย่อ ๆ ว่า "MAGA" เกิดจากประเด็นด้านเศรษฐกิจล้วน ๆ เนื่องจากในปี 2010 สหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้กับจีน ที่สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า รวมถึงภาคการผลิตของประเทศที่ไปลงทุนในต่างประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า ส่งผลให้ประชากรสหรัฐฯ ตกงานกันถ้วนหน้า มิหนำซ้ำ ยังมีผู้อพยพ ทั้งลาตินอเมริกาหรือชาวเอเชียเข้ามาแย่งงานที่มีอยู่ไม่มากเข้าไปอีก

ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงชูประเด็น MAGA วิพากษ์โลกาภิวัตน์ ตั้งกำแพงภาษี ดึงภาคการผลิตกลับสู่ประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้พลิกฟื้น ให้สมกับที่เป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง

ทว่า MAGA ไม่ได้ตั้งใจให้เกี่ยวข้องกับประเด็น "เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ" เนื่องจากประชาชนที่สนับสนุนทรัมป์มีหลากหลาย แต่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ "ชาวผิวขาว" ที่มีแนวคิดเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และตั้งตนเป็นใหญ่ จึงนำ MAGA ไปใช้สอดรับกับสิ่งที่พวกเขายึดมัดถือมั่น "ภาพจำ" ของ MAGA จึงหลุดลอยไปจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ

MAGA คือองค์ใหญ่ ส่วนเรื่องเหยียดผิวเป็นซับเซต … ชาวผิวขาวเอาแคมเปญนี้ไปใช้อย่างผิด ๆ ซึ่งทรัมป์ก็คุมไม่ได้ … จะสังเกตได้ว่า ยังมีชาวเอเชียใส่หมวก MAGA แสดงว่ากลุ่มนี้เข้าใจในเชิงเศรษฐกิจ

ส่วนประเด็นที่ อีลอน มัสค์ ใส่หมวก MAGA นั้น ดร.ปองขวัญกล่าวว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติเช่นกัน เพียงแต่มัสค์เป็นผู้สนับสนุน ทรัมป์เฉย ๆ ต้องไม่ลืมจุดตั้งต้นของแคมเปญนี้ว่ามาจากประเด็นเศรษฐกิจ ดังนั้น มัสค์อาจมีความเป็นไปได้ที่จะใส่หมวก MAGA เพราะชื่นชอบนโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์

การเมือง เรื่อง "อารมณ์ -ความชอบ"

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสถิติการว่างงานในช่วงสมัยของ "ทรัมป์" และ "โจ ไบเดน" จะเห็นว่า ไบเดนมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ส่วนทรัมป์อยู่ที่ร้อยละ 7 หากคิดตามหลักเหตุและผล จะพบว่า ไบเดน คือ ผู้กอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่การเมืองไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกล้วน ๆ

แม้ตัวเลขที่ออกมาไบเดนจะทำได้ดีกว่าทรัมป์ แต่อย่าลืมว่าการเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึก ต่อให้สถิติจะบ่งชี้ว่าทรัมป์เป็นรองเพียงไร ผู้คนที่รักทรัมป์ สนับสนุนทรัมป์ ก็จะออกมาวิพากษ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา … นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของจิตวิทยาการเมือง

ดร.ปองขวัญ อธิบายว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ใช้สวนกลับไบเดน ในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ การฟื้นตัวนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาโควิดหมดไปแล้ว เศรษฐกิจย่อมฟื้นตัวเป็นธรรมดา ไบเดนไม่ได้ทำอะไรเลย หรือไม่ก็ให้เหตุผลว่า อัตราการว่างงานที่ลดลงไม่ได้ชี้ว่าเศรษฐกิจดี ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น จีดีพี หรือมูลค่าการส่งออก เข้ามาด้วย

แต่ไม่ว่า MAGA จะถูกใช้ไปในเชิงอะไร สิ่งหนึ่งที่แสดงผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม คือ การขายของที่ระลึก ที่แปะป้าย MAGA โดยเฉพาะหมวก ทำกำไรให้แก่ทรัมป์ไปแล้วกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในปี 2016 ซึ่งถือเป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" สำคัญสำหรับใช้หาเสียงของทรัมป์ ตั้งแต่ปี 2020 และปี 2024 นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"โดนัลด์ ทรัมป์" หวนคืนทำเนียบขาวคว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024

ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ "โลกระส่ำ"

นักวิเคราะห์ชี้หาก "ทรัมป์" ชนะ ชาวอเมริกันเผชิญการเปลี่ยนแปลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง