ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กลโกง "ฟิลแฟน" สารวัตรแจ๊ะเตือนเอ๊ะไว้ก่อน กันตกเป็นเหยื่อรักปลอม

สังคม
8 พ.ย. 67
15:37
1,164
Logo Thai PBS
กลโกง "ฟิลแฟน" สารวัตรแจ๊ะเตือนเอ๊ะไว้ก่อน กันตกเป็นเหยื่อรักปลอม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไทยเตือนภัยออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ยุคใหม่ใช้ "ฟิลแฟน" หลอกเจาะใจกลุ่มวัยทำงาน พร้อมแผนวิดีโอคอลเพิ่มความน่าเชื่อถือ ขยายเครือข่ายหลอกลวง มูลค่าความเสียหายสูงสุดในกลุ่มอายุ 31-44 ปี สารวัตรแจ๊ะย้ำให้ "เอ๊ะ" ไว้ก่อน เจอคนสวยคนหล่อจู่ ๆ ทักมาจีบ

ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. ตอนนั้นคอลเซนเตอร์เริ่มระบาดหนัก ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เริ่มปราบปรามคอลเซนเตอร์ ไล่มาจนถึงยุคของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข,  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

พอมาถึงยุคนี้ ทั้งผู้การจ๋อและผม อยากขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับพวกเรา ไม่ให้เราสู้อยู่คนเดียว  

เสียงจาก พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือ สารวัตรแจ๊ะ ขึ้นต้นกล่าวขอบคุณในงานเปิดโครงการ Cyber Booster ในรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา 

สารวัตรแจ๊ะกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำสงครามกับแก๊งคอลเซนเตอร์ มีทั้งการปราบปรามและอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเตือนภัยที่ถือว่าเป็น "วัคซีน" เอามาฉีดให้กับประชาชน ตลอด 7 ปีที่แก๊งคอลเซนเตอร์ระบาดหนักในไทยนั้น มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ จากมุกคลาสสิกที่โทรมา บอกว่าเป็นตำรวจ หรือหลอกให้รัก เป็นฝรั่งส่งพัสดุเข้ามา แต่ปัจจุบันแผนพลิกแพลงไปเรื่อย ๆ

แก๊งคอลเซนเตอร์เหล่านี้อยู่ตามประเทศเพื่อนบ้าน ทำกันเป็นธุรกิจ เรียกว่ามีคอลเซนเตอร์หลากหลายบริษัทไม่ต่ำกว่าร้อยแห่งอยู่รอบประเทศเรา เราต้องยกระดับที่จะต่อสู้กับเขา แล้วก็ยกระดับในการเตือนภัยให้กับประชาชน 

สารวัตรแจ๊ะ เล่าย้อนไปในปี พ.ศ.2563 ตอนนั้น พ.ต.อ.สุวัฒน์ เป็น ผบ.ตร. ได้ส่งผู้การจ๋อและตัวเขาเองลงมาที่ศูนย์ PCT ปราบปรามพวกคอลเซนเตอร์ ตอนนั้นพอสืบสวนก็ทราบว่าพวกนั้นไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเลย การจับกุมในประเทศไทยจะทำได้แค่ในส่วนของบัญชีม้า ส่วนคอลเซนเตอร์จริง ๆ อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ในพื้นดินที่เราเหยียบอยู่ผมเป็นตำรวจ แต่เมื่อผมข้ามแดนไปต่างประเทศ ผมไม่ใช่ตำรวจ ผมไม่มีอำนาจ ผมไม่มีดาบ

สารวัตรแจ๊ะ ชี้ให้เห็นว่า ในแนวทางการสืบสวน การปราบปราม เรียกว่ามีข้อจำกัดเยอะมาก และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ เรียกว่าเป็นปัญหาระดับชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองสู้อย่างเดียวดายคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย

พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ

พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ

พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ

เด็กรุ่นใหม่ เป้าหมายใหญ่แก๊งพนันออนไลน์

ด้าน สว.เติ้ก หรือ พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์ กากีนั้ง ทีวี แสดงความกังวลถึงกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันที่มักตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซนเตอร์ว่า สมัยก่อนเวลาเราจะคุยกับใคร เราก็ต้องเจอตัวจริง แต่สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยี อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าก็จะไปเจอกับใครก็ได้ ซึ่งมิจฉาชีพพวกนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือต่าง ๆ นานาขึ้นมา ก็ทำให้ถูกหลอกไปลงทุนบ้าง โดนชักชวนไปเล่นพนันออนไลน์บ้าง ยิ่งพนันออนไลน์จะเห็นว่ามักมีเป้าหมายเป็นเด็กเยอะมาก 

เพราะมิจฉาชีพจะผูกเรื่องของเกมเข้ามา ตอนแรกเขาคิดว่าเขาเล่นแล้วได้ เขาก็เล่นต่อไป สุดท้ายก็หมดเงิน พอหมดเงินปุ๊บ ก็ไปขโมยเงินพ่อแม่มา เพื่อที่จะมาเล่นต่อเพราะหวังว่าจะได้คืน ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกพนันออนไลน์เหล่านี้จะล็อกระบบอยู่แล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้คืน 

หลายคนที่บอกว่า สามารถเล่นเกมออนไลน์จนเป็นอาชีพได้ และมั่นใจว่าได้เงินจริง ๆ แต่เมื่อถามเจาะลงไปลึก ๆ จริงๆ พบว่า มันเสี่ยงมากกว่าได้ แล้วเงินที่โอนมาก็เป็นบัญชีม้าอีกทีหนึ่ง ที่ทำให้เขาไปพัวพันกับเรื่องของการฟอกเงิน อยากชี้ให้เห็นว่ามันมีหลายมิติมากที่จะเชื่อมโยงไป 

พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์

พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์

พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์

สอดคล้องกับ หมวดแพนด้า ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ที่ตกใจกับวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลังพบว่าเด็กรุ่นใหม่ รู้สึกภาคภูมิใจกับการเล่นพนันออนไลน์ 

ผมเล่นครับพี่ แล้วผมได้ด้วย ลงทุนไปแค่นี้แต่ได้กลับมาเยอะกลับมาเยอะมากเลย 

ทำให้หมวดแพนด้าต้องพยายามสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน ด้วยการเล่าถึงขั้นตอนที่มิจฉาชีพพยายามที่จะหลอกให้เข้าสู่วงโคจรพนันออนไลน์แบบฉุดขึ้นมาไม่ได้ แรก ๆ เขาก็จะให้เงินน้องมานิดหน่อย น้องรู้สึกได้เงิน สักพักน้องไปบอกต่อเพื่อน เป็นการเชิญชวนทางอ้อม สักพักนึงน้องจะเริ่มเสีย

ยังไม่เคยเห็นใครที่รวยจากการพนันสักที ตำรวจยืนยันด้วยปากตัวเองว่า ไม่มีใครรวยจากการพนัน และที่กำลังเล่นอยู่ ก็ถูกหลอกทั้งนั้น
ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์

ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์

ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์

ถอนตัวถอนใจเมื่อถูกหลอกให้รัก

สำหรับอีกหนึ่งกลโกงในปัจจุบันคือ การหลอกให้รักแล้วโอนเงิน ข้อเท็จจริงพบว่ากลุ่มผู้เสียหายส่วนใหญ่คือ ผู้สูงอายุ พ.ต.ต.พากฤต บอกถึงวิธีการเอาตัวรอด ให้เริ่มจาก "การตัด" ตัดทุกอย่าง ทั้งตัดใจ ตัดการโอนงิน แต่ไม่ให้ตัดใจไม่ดำเนินคดี ทุกวันนี้แนวทางการป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงนั้นค่อนข้างแน่นหนา แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนจริง ๆ คือ "ใจคน" ที่เราจะเผลอใจโอนไปให้มิจฉาชีพ 

ส่วนทาง พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ ย้ำชัดว่า ปัจจุบันนี้รูปแบบของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ถือว่าอันตรายที่สุดคือ "ฟิลแฟน" หรือการหลอกให้รักแล้วลงทุนนั่นเอง กรรมวิธีของมิจฉาชีพเหล่านี้ จะมาในรูปแบบผู้หญิงสวย หรือ ผู้ชายหล่อ ใช้วิธีที่เรียกว่าเลี้ยงความรักแบบฟิลแฟน ประมาณ 2 สัปดาห์โดยจะไม่พูดถึงการลงทุนเลย จนเหยื่อกินเบ็ดด้วยตัวเอง เริ่มถามเองว่าเธอทำอะไร แล้วเขาก็เริ่มบอกเองว่าฉันทำแบบนั้นแบบนี้นะ แล้วก็จะลากเข้าไปสู่กระบวนการหลอก

ที่มันสร้างความรุนแรงเพราะว่าเรื่องของความรักนอกจากเป็นการเล่นกับความรู้สึกแล้ว สถานะของผู้ถูกหลอกบางคนไม่สามารถที่จะปรึกษาใครได้ อย่างเช่นคนที่มีแฟนอยู่แล้ว แต่ไปคุยกับอีกคนที่ทำอาชีพที่สถานะทางสังคมไม่สามารถเปิดเผยเรื่องความรักให้ใครทราบได้ ทำให้ตัวผู้ถูกหลอกเอง เป็นฝ่ายเจ็บปวดมากที่สุด

วิธีการป้องกันตัวเองให้ "เอ๊ะ" ไว้ก่อน ถ้าเกิดมีคนสวยคนหล่อ จู่ ๆ ทักมาคุยต้อง "เอ๊ะ" ไว้

ลองปรึกษาเพื่อนดูว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจริงกับชีวิตเราได้หรือไม่ ให้เพื่อนช่วยเอ๊ะอีกทีหนึ่ง ให้ช่วยคัดกรอง ไม่อย่างนั้นบางรายเกิดการเปลื้องผ้าให้ดู พอไปถึงขั้นนั้นแล้วเหยื่อก็จะอยู่ในสภาวะจำยอมไปตลอด แต่ก็ไม่ใช่ทุกเคสที่จะถือเป็นมิจฉาชีพฟิลแฟน ถ้าเจอกันก่อน มีความประทับใจกันมาก่อน เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง

นักแสดงฟิลแฟนประจำบริษัทคอลเซนเตอร์

นอกจากการทักแชต คุยผ่านข้อความเพื่อหลอกให้รักแล้วลงทุนแล้วนั้น สารวัตรแจ๊ะเองยังเผยอีกกรรมวิธีโกงอีกอย่างคือ ในปัจจุบันมิจฉาชีพกล้าวิดีโอคอลให้เห็นหน้าเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้ที่กำลังถูกหลอกแล้ว ไม่ใช่ AI แต่อย่างใด แต่ใช้คนที่หน้าตาดีจริง ๆ มาทำหน้าที่หลอกโดยเฉพาะ 

บริษัทคอลเซนเตอร์ เขามีตัวแสดงนั่งรอไว้เลย จัดคิวว่าตอนนี้คุยกับใคร แล้วก็ถูกล่อลวงให้ลงทุนธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ 

ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ผู้กองวิน ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ระบุว่า ปัจจุบันมี 5 คดีที่มีคนแจ้งความเยอะสุด แต่การหลอกลวงลงทุนผ่านคริปโต หรือระบบเทรดหุ้น อยู่อันดับ 4 อันดับ 5 แต่มูลค่าความเสียหายกลับเยอะที่สุดเป็นอันดับ 1 สำหรับช่วงอายุที่ทำสถิติมา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นกลุ่มวัยที่โดนหลอกมากที่สุด แต่เป็นกลุ่มช่วง 31-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งถือว่าเยอะมาก 

ที่มากขนาดนี้เป็นเพราะ เป็นวัยที่กำลังสร้างตัว กำลังต้องการหารายได้ ถ้าลงทุนได้ก็ถือว่ามีเงินเก็บเยอะอยู่ และก็เป็นวัยที่เสพการเตือนภัยก็เยอะ แต่บางทีก็เล่นกับความโลภ โกรธ หลง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ไม่ยาก

ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร

ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร

ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร

อ่านข่าว :

#สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ 5 หน่วยงานร่วมมือเปิดตัว Cyber Booster

ข่าวที่เกี่ยวข้อง