คว้าชัยเข้าทำเนียบขาว รอบสองด้วยคะแนน 295 : 226 เอาชนะ คามาลา แฮร์ริส แบบโชว์เหนือ แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองแบบไม่ต่อเนื่องกัน (Non-consecutive Term) และรอเพียงการสาบานตน ก็จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
แม้ทรัมป์ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นคนที่ไม่สามารถคาดเดาว่า จะมีนโยบายด้านการต่างประเทศ และนำพาสหรัฐอเมริกาไปสู่จุดหมายใด แต่การเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องว่า ประธานาธิบดีคนนี้ จะเปิดแนวรบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างไร
ไม่เฉพาะคู่แข่งอย่างรัสเซีย-จีน และกับภูมิภาคเอเซีย และดินแดนเล็กๆ ขวานทองของประเทศไทยด้วย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ชนชั้นนำ-ปัญญาชนระส่ำ "ทรัมป์" ยากคาดเดา
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติและนักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสนอว่า ตอนนี้กลุ่มคนที่วิตกกังวลและระส่ำ ระสาย ภายหลังทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกามากที่สุด คือ "ชนชั้นนำและปัญญาชน" ที่มีการศึกษา มีความรู้ มีทรัพย์สิน และอาศัยอยู่ในเขตเมือง
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะการเข้ามาของทรัมป์ แม้จะเอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นล่าง คนจน และแรงงาน แต่จะทำลายการค้าเสรี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการลงทุน ทรัมป์ชูนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน (America First) " ดึงการลงทุนและการจ้างงานทุกอย่างกลับสู่สหรัฐฯ หมายให้ประเทศเป็น "พี่เบิ้ม" เสียดุลการค้าให้น้อยที่สุด เพื่อให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้หวาดวิตก ยังมีเรื่อง "ความเอาแน่เอานอนไม่ได้" ของทรัมป์ จากพฤติกรรม กระบวนการคิด การตัดสินใจ และการกำหนดนโยบาย เป็นไปด้วยเรื่องของความรู้สึก ไม่มีหลักการหรืออุดมการณ์ใดเป็นที่ตั้ง ทำให้ไม่มีทางเลยที่จะคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงกลัวกันว่าทิศทางขับเคลื่อนประเทศนั้นอาจจะนำไปสู่หายนะได้
ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ผู้นำหลายประเทศโทรศัพท์ไปแสดงความยินดี … เป็นการเอาใจทรัมป์แบบหนึ่ง … แต่ประเทศไทยตอนแรกยังนิ่ง ๆ ไม่ยอมแสดงความยินดี แม้ในที่สุดก็ทำ แต่อย่าลืมว่าทรัมป์ชอบให้เอาใจ อยากได้ยินการชมเชย … เขาจดจำการกระทำอะไรกับเขาทุกอย่าง ให้ระวังไว้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวว่า วิธีคิดของทรัมป์ แม้ไม่มีหลักการ แต่อาจจะบอกได้ว่าเป็นแบบ "ผลประโยชน์เป็นใหญ่" หรือ "Transactional" ตามแคม เปญที่เขาหาเสียง หากการเจรจาหารือทั้งในด้านการค้า การลงทุน หรือการต่างประเทศ ไม่ส่งผลให้สหรัฐฯ "ได้ประโยชน์" ทรัมป์พร้อมล้มโต๊ะเจรจาในทันที
ดังนั้น ในการสร้างข้อตกลงจึงไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว อยู่ที่ข้อเสนอล้วน ๆ ว่าถูกใจทรัมป์หรือไม่ หรือหากถูกใจข้อเสนอ แต่ไม่ถูกใจบุคลิกลักษณะของคู่เจรจา ดีลก็สามารถถล่มได้ทุกเมื่อ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า "ทรัมป์เป็นศูนย์กลางของโลก" ทุกประเทศต้องเอาอกเอาใจ ตามใจ ตามน้ำ
ทรัมป์สนใจเพียงว่าสหรัฐฯ จะได้อะไรเป็นที่สุด เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก เราอาจจะเรียกว่า ทรัมป์ต้องการ Win-Win Situation การให้น้ำหนักประเทศอื่น ๆ จึงน้อยตามไปด้วย
ทรัมป์ คัมแบ็ค ไทย เสียเปรียบ เพื่อนบ้าน
สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ชี้ว่า "ไม่ค่อยได้ประโยชน์" เพราะไทยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทาง ทั้งในด้านการลงทุนหรือยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ แม้จะมีศักยภาพในด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือขนาดเศรษฐกิจก็ตาม
แม้ขนาดเศรษฐกิจจะใหญ่ แต่ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช้า แถมยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการภาครัฐที่มีความล่าช้า ไม่ทันการณ์ และปัญหาคอร์รัปชัน แม้จะมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก แต่ค่าแรงสูงเกินไป รัฐบาลมุ่งแต่นโยบายเพิ่มค่าแรง
และที่สำคัญ อัตรากำลังในสายอาชีพไม่เพียงพอ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ … ทำให้ไม่น่าดึงดูดการลงทุน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังเตือนว่า "เพื่อนบ้าน" ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีความน่าสนใจกว่าไทยหลายขุม เพราะสิงคโปร์และอินโดนีเซีย มีการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีปัญหาหากทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีหรือกีดกันทางการค้า ยังสามารถส่งออกได้ปกติ ผิดกับไทยที่ไม่ได้ลงนาม FTA กับสหรัฐฯ ทำให้เสียเปรียบอย่างมาก
ส่วนมาเลเซียและเวียดนาม ถือว่าเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วอย่างมาก แถมค่าแรงยังถูก หากทรัมป์ดึงการลงทุนกลับประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ มักลงทุนอยู่ใน "จีน" ที่เป็นคู่แข่งกัน และบริษัทเหล่านี้ไม่อยากกลับประเทศ มาเลเซียและเวียดนามคือประเทศที่น่าสนใจในการตั้งฐานการผลิตเป็นที่สุด
สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ไทยจะหยิบชิ้นปลามันนี้อย่างไร สร้างแรงดึงดูดอย่างไร ตรงนี้ ในระยะสั้นคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังย้ำว่า ไทยต้องคิดดี ๆ ในเรื่องของการเลือกข้างด้วยเช่นกัน หากว่าเสียเปรียบต่อการดึงดูดทุนสหรัฐฯ การหันหน้าเข้าหาจีนคุ้มหรือไม่ เพราะจะเป็นการสร้างความขุ่นเคืองใจต่อทรัมป์ และอาจจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นก็เป็นได้
มั่นใจโลกสงบ ทำราคาทองร่วงระนาว
นอกเหนือจากประเด็นทางเศรษฐกิจและการระหว่างประเทศ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังเสนอให้เห็นปรากฏการณ์ "ราคาทองคำร่วงระนาว" ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับตำแหน่งของทรัมป์ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ โลกเผชิญสภาวะ 2 สงครามใหญ่ คือ รัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทั้งรูปแบบเม็ดเงินและกำลังรบ นักลงทุนจึงกลัวว่าเงินดอลลาร์จะมีมูลค่าลดลง จากสภาวะเงินเฟ้อที่สหรัฐฯ นำเงินไปช่วยเหลือสงคราม ดังนั้น พวกเขาจึงถือทองคำและเทขายดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อทองคำในตลาดมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการ ราคาทองจึงสูงขึ้น
แต่เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า ทรัมป์จะสามารถยุติสงครามได้อย่างรวดเร็ว และไม่ทุ่มงบประมาณไปกับอะไรแบบนี้ พวกเขาจึงเทขายทองและหันมาถือเงินดอลลาร์สหรัฐแทน และเมื่อทองคำในตลาดมีมากกว่าความต้องการ ส่งผลให้ราคาทองลงมาอย่างที่เห็น
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่ออิสราเอลและรัสเซียไม่ได้มีความแข็งกร้าวแบบสมัย โจ ไบเดน ราคาทองจึงเกิด Slowdown และเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาเป็น World Currency ที่แข็งแกร่งอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัญญาต้องเป็นสัญญา! 7 สิ่งที่ "ทรัมป์" จะทำเมื่อเป็นผู้นำสหรัฐฯ
Make America Great Again เบื้องหลังทรัมป์"คืน"ทำเนียบขาว
"แฮร์ริส" ยอมรับความพ่ายแพ้เลือกตั้งสหรัฐฯ ยินดีกับ "ทรัมป์"