เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 ไต้ฝุ่น "โทราจี" พัดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ในพื้นที่ จ.ออโรรา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ด้วยความเร็วลมสูงสุดถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อิทธิพลของพายุสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยมีต้นไม้และเสาไฟหักโค่นเป็นจำนวนมาก บางส่วนล้มกีดขวางถนนจนไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีมหาดไทยสั่งอพยพประชาชนในหมู่บ้าน 2,500 แห่งเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้ ขณะที่ทางการท้องถิ่นระบุว่ามีประชาชนอย่างน้อย 8,000 คนถูกอพยพออกจากพื้นที่ชายฝั่ง ขณะที่โรงเรียนและสถานที่ราชการปิดทำการชั่วคราว เช่นเดียวกับการให้บริการข้ามฟากและเที่ยวบินภายในประเทศต้องระงับให้บริการ ทั้งในจังหวัดที่พายุพัดขึ้นฝั่งและจังหวัดที่อยู่ในหรือใกล้เส้นทางของพายุ
อิทธิพลไต้ฝุ่นโทราจีพัดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ ฝนตกหนัก ต้นไม้และเสาไฟหักโค่น
ล่าสุด ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากพายุลูกนี้ โดยไต้ฝุ่นโทราจีอ่อนกำลังลงเล็กน้อยขณะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ก่อนเคลื่อนตัวออกจากฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ในที่สุด
ไต้ฝุ่น "โทราจี" ถือเป็นพายุลูกที่ 4 ในรอบไม่ถึง 1 เดือนที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ โดยเกิดขึ้นในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ยังคงพยายามฟื้นฟูความเสียหายหลังเผชิญพายุ 3 ลูกติดต่อกันในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นพายุไต้ฝุ่น 2 ลูกและพายุโซนร้อน 1 ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 160 คน สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและฟาร์มหลายพันแห่ง และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 9 ล้านคน
สำนักข่าว AFP รายงานอ้างนักพยากรณ์อากาศคนหนึ่งว่า หลังจากไต้ฝุ่นโทราจี ฟิลิปปินส์อาจเผชิญพายุดีเปรสชันลูกใหม่ อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 14 พ.ย.นี้
อินโดนีเซียอพยพหนีภูเขาไฟปะทุ
ส่วนที่อินโดนีเซีย ภูเขาไฟเลโวโตบิ ลากี-ลากี (Lewotobi Laki-Laki) ซึ่งเป็นภูเขาไฟแฝด ความสูง 1,703 เมตร บนเกาะฟลอเรส ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย เกิดปะทุลาวาและเถ้าถ่าน รวมถึงพ่นควันสูงเหนือปากปล่องถึง 9 กิโลเมตร เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งภูเขาไฟลูกนี้ปะทุต่อเนื่องหลายครั้งนานนับสัปดาห์แล้ว โดยเริ่มปะทุตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.
ภูเขาไฟเลโวโตบิ ลากี-ลากี บนเกาะฟลอเรสของอินโดนีเซีย ปะทุลาวาและเถ้าถ่าน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทางการต้องขยายพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอันตรายและสั่งอพยพประชาชนเพิ่ม ท่ามกลางความกังวลถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภูเขาไฟลูกนี้ ขณะที่อุปสรรคสำคัญที่สุดคือยานพาหนะที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เจ้าหน้าที่อพยพชาวบ้านที่เต็มใจอยากอพยพออกไปเท่านั้น ซึ่งการปะทุระลอกล่าสุดทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 10 คน
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเผชิญเหตุแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุบ่อยครั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก
อ่านข่าว
สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสานอากาศเย็นต่อเนื่อง ใต้ฝนหนักบางแห่ง
หนังดัง สัตว์ทนทุกข์! ความจริงที่ถูกซ่อนวงการบันเทิง Hollywood
"ยูเครน-รัสเซีย" ส่งโดรนโจมตีครั้งใหญ่ 2 ฝ่ายสกัดโดรนรวมกว่า 100 ลำ