"โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า "ทอม โฮแมน" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร จะเข้ามากุมบังเหียนรับผิดชอบพรมแดนสหรัฐฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนใต้ พรมแดนเหนือ ความมั่นคงทางทะเลและน่านฟ้า พร้อมทั้งย้ำว่าไม่มีใครที่จะควบคุมพรมแดนของประเทศได้ดีไปกว่าโฮแมน
ภารกิจสำคัญของโฮแมน คือการเนรเทศผู้ที่ทรัมป์เรียกว่าเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย ให้กลับไปประเทศต้นทางทั้งหมด ซึ่งการแต่งตั้งโฮแมนให้เข้ามาดูแลพรมแดน ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในกลุ่มคนที่สนับสนุนผู้อพยพ
โฮแมน เป็นข้าราชการประจำในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ก่อนที่จะเกษียณในปี 2018 ทำให้เขามีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งขณะนั้น โฮแมนนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการรักษาการและดูแลรับผิดชอบการบังคับใช้นโยบายจัดการผู้อพยพของทรัมป์อย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการควบคุมตัวผู้อพยพเด็กมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 12,800 คน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ทอม โฮแมน
โฮแมนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีแนวคิดสายเหยี่ยว และมีจุดยืนสนับสนุนการจับกุมตัวและเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งปกป้องนโยบายดังกล่าวของทรัมป์อย่างสุดตัว เมื่อประเมินจากบทบาทของโฮแมนและเสียงชื่นชมตัวเขาจากปากของทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมา การแต่งตั้งโฮแมนขึ้นมาดูแลพรมแดนสหรัฐฯ และทำภารกิจเนรเทศผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตามการประกาศของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ จึงไม่ผิดไปจากความคาดหมาย
ก่อนหน้านี้ โฮแมนเคยขึ้นเวทีร่วมกับทรัมป์หลายเวที รวมถึงเวทีประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันที่วิสคอนซิน เมื่อเดือนกรกฎาคม ก.ค. ซึ่งโฮแมนประกาศขอให้ผู้อพยพผิดกฎหมายหลายล้านคนที่ไบเดนปล่อยตัวออกมาในสหรัฐฯ ควรเริ่มเก็บข้าวของ แต่การเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารทั้งหมดออกจากสหรัฐฯ จะทำได้จริงและคุ้มค่าหรือไม่
American Immigration Council ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานสนับสนุนนโยบายผู้อพยพในสหรัฐฯ จัดทำรายงานฉบับพิเศษเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค.2024 โดยประเมินว่าตัวเลขผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ที่อาจจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทางตามนโยบายของทรัมป์ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 13.3 คน
แบ่งเป็นตัวเลขทางการจนถึงปี 2022 ประมาณ 11 ล้านคน และประเมินว่ายังมีผู้ลักลอบข้ามพรมแดนใต้เข้ามาในสหรัฐฯ โดยที่ไม่ได้มีสถานะผู้อพยพถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างปี 2023 จนถึงเดือน เม.ย.2024 อีกประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งการเนรเทศคนกลุ่มนี้ทั้งหมดพร้อมกันในครั้งเดียว คาดว่าต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 315,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท
ส่วนหนึ่งของกำแพงบริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ในรัฐแอริโซนา ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนหน้านี้
ตัวเลขนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินไว้ต่ำมากแล้ว เพราะหากพูดถึงต้นทุนที่ต้องใช้จริง ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถส่งตัวผู้อพยพมากกว่า 13 ล้านคน กลับประเทศของตัวเองในเวลาอันสั้นได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียว ในขณะที่หากจับกุมตัวผู้อพยพมาแล้วจะนำพวกเขาไปกักไว้ที่ไหน เพราะจากข้อมูลเมื่อปี 2022 หากรวมสถานที่ควบคุมตัวไม่ว่าจะของส่วนกลางหรือระดับท้องถิ่น ทั้งประเทศรองรับได้ไม่ถึง 2 ล้านคน
อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือการทยอยส่งตัวกลับ ซึ่ง JD Vance ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปีและยังต้องใช้งบประมาณปีละมากกว่า 3 ล้านล้านบาท แม้จะมีการประเมินว่าการใช้แผนระยะยาวจะทำให้ผู้อพยพผิดกฎหมาย 20% ตัดสินใจออกจากสหรัฐฯ เอง ไม่ต้องรอให้ถูกจับ แต่การเนรเทศผู้อพยพที่เหลือก็ยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 10 ปีกับงบประมาณมากกว่า 33 ล้านล้านบาท
ตัวเลขข้างต้นทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องเงินเท่านั้น ซึ่งยังไม่นับรวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการบังคับใช้นโยบายนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสถานที่เพื่อรองรับผู้อพยพ ไปจนถึงผลกระทบทางจิตใจของผู้คน และตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ที่จะหดตัวลงสูงสุด 6.8% อีกด้วย
อ่านข่าว
พายุถล่มซ้ำ "ฟิลิปปินส์" ไต้ฝุ่นโทราจีพัดขึ้นฝั่งทำอากาศเลวร้าย
สตรีคนแรก! ทรัมป์ตั้ง "ซูซี่ ไวลส์" เป็นหัวหน้า จนท.ทำเนียบขาว
กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ