ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โลกมุสลิม" ผลประโยชน์สหรัฐฯ "ทางเลือก" ทรัมป์ ถอนทุนกลับ

ต่างประเทศ
20 พ.ย. 67
13:33
2,149
Logo Thai PBS
"โลกมุสลิม" ผลประโยชน์สหรัฐฯ "ทางเลือก" ทรัมป์ ถอนทุนกลับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การหวนคืน "ทำเนียบขาว"ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยที่ 2 ไม่เพียงสร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและมาตรการกีดกันทางการค้า-การลงทุน การเมืองเรื่องการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ตามแนว ทาง America Frist ท่ามกลางบริบทความขัดแย้ง ประเทศคู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน” และปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ จึงทำให้ถูกจับตามองว่า สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนที่ 43 จะดำเนินนโยบายอย่างไรกับโลกมุสลิม

กลุ่มประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในโลกมุสลิม แน่นอน ไม่ได้มีเฉพาะชาวอาหรับ 18 ประเทศ อาทิ โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย ฯลฯ แต่ยังมีตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ยุโรป รวมทั้ง อาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย และไทย อาจต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

หากกล่าวถึง "โลกมุสลิม" หรือชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั่วโลกพบมีจำนวน 19,000 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นอัตราร้อยละ 24.1 และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของ 49 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้กลุ่มประเทศอาหรับยังเป็นศูนย์ กลางทางด้านปิโตรเลียมและการบิน ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 43 และ 20 ตามลำดับ

แม้โลกอาหรับจะมีสำคัญต่อโลกมากมาย กลับปรากฎข้อมูลน้อยมากว่า หลัง "ทรัมป์"ก้าวขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง จะมีผลต่อโลกมุสลิมอย่างไร 

"ทรัมป์"หันเข้าโลกมุสลิม หวังถอนทุนกลับ

นายดนัย มู่สา ประธานกรรมการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า หากจะเข้าใจโลกอิสลาม ต้องเข้าใจก่อนว่าประกอบด้วยกลุ่มใด ภูมิภาคใด ประเทศใด

โลกมุสลิมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก อาหรับมลายู เป็นเพื่อนบ้านของไทย อินโดนีเซีย รัฐอิสลามที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมุสลิมมากที่สุด มาเลเซีย ที่เป็นมันสมองของโลกอิสลาม อาจรวมถึงสิงคโปร์ และอินเดีย ที่มีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ กลุ่มที่สอง อาหรับตะวันออกกลาง ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้งหลาย รวมไปถึงแอฟริกาเหนือ เช่น อียิปต์ ลิเบีย ซูดาน และที่นับรวมด้วยคือ ตุรกี แม้จะอยากเข้าร่วมสหภาพยุโรปก็ตาม

ปัญหาคือ ทรัมป์เข้าใจโลกมุสลิมแบบใด สำหรับผม ทรัมป์สนใจแต่อาหรับตะวันออกกลาง ไม่ได้คิดว่าเพื่อนบ้านเราเป็นโลกมุสลิม ดังนั้น หากจะวิเคราะห์ ต้องพิจารณาทรัมป์ต่อตะวันออกกลางเป็นหลัก

ประธานกรรมการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม มองว่า ทรัมป์ได้หันหน้าเข้าหาโลกมุสลิมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และพยายามเน้นหนักไปที่การยุติสงคราม ระหว่างอิสราเอลต่อกลุ่มต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง ทั้งฮามาส เฮซบอลเลาะห์ ฮูตี หรือความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพื่อดึงเงินดอลลาร์สหรัฐกลับเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ให้สอดรับกับนโยบาย America First

ประเด็นนี้ ทำให้ "ทรัมป์" ได้ใจฐานเสียงกลุ่มมุสลิมอเมริกัน ในบรรดารัฐ Swing States อย่างมาก ถึงขนาดที่มีการกล่าวขานว่า การที่ทรัมป์กลับเข้ามาสู่อำนาจได้อีกครั้ง เป็นผลมาจากผู้เลือกตั้งชาวมุสลิม อีกทั้งทรัมป์ยังเป็นคนบ้าที่สมองปราดเปรื่อง วิ่งโร่เข้าหามุสลิมด้วยการลงพื้นที่ไปรับประทานอาหารฮาลาล ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้โลกมุสลิมกลับมาสงบอีกครั้ง

ทรัมป์เป็นประเภท เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาไม่นานด้วย หาเสียงอะไรไว้ ทำได้ตามนั้นหมด จริง ๆ ทำเกินกว่านั้นเสียด้วยซ้ำไป เพียงแต่ที่ได้ใจมุสลิม ไม่ได้มีเพียงการซื้อใจด้วยการหาเสียง แต่ในทรัมป์ 1.0 เขาเลือกที่จะไม่ทำการขึ้นทะเบียนผู้อพยพชาวมุสลิม ทำให้การอพยพของมุสลิมไม่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกโรงเตือนถึงปัญหาบางอย่าง เพราะจริง ๆ แล้ว ทรัมป์ 1.0 กับโลกมุสลิมนั้น "เริ่มไม่ดี จบไม่สวย" จากการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ มาอยู่ที่นครเยรูซาเลม สถานที่ศักดิ์สิทธ์ที่กำเนิดปมขัดแย้ง คริสต์-อิสลาม-ยิว หรือการแบนซีเรียออกจากสารบบโลก

รวมถึง การที่ทรัมป์ออกตัวแรงว่าสหรัฐฯ จะยุติสงครามโดยเร็ว ซึ่งวิธีการ คือ ตัดกำลังทหาร และไม่ให้ความช่วยเหลืออิสราเอลเพื่อการสัประยุทธ์โลกมุสลิม แต่ไม่ได้บังคับให้อิสราเอลต้องยุติสงครามไปโดยปริยาย ดังนั้น อิสราเอลที่มีกำลังรบพร้อมสรรพ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ก็สามารถทำสงครามกับโลกมุสลิมด้วยตนเองได้ อาจยกระดับความรุนแรงขึ้นเพราะได้ลุยเดี่ยว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกมุสลิมได้ในวาระ 4 ปีของทรัมป์

ดังนั้น การปรับตัวของโลกมุสลิมจึงเป็นทางออกสำคัญ เพราะตอนนี้อย่างไรทรัมป์ก็ต้องเข้าหา โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลางที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่สามารถช่วยให้สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์สูงสุด คือ ซาอุดิอาระเบีย ที่มีพัฒนาการก้าวหน้าทั้งในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงพลังงานมหาศาล จึงอยู่ที่ว่าทรัมป์จะเข้าหาด้วยวิถีแบบใด จะมาลักษณะเดิม คือ ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเอง หรือจะผ่อนปรน โอนอ่อนให้โลกมุสลิม

สภาพการณ์ที่เป็นไปได้ คือ โลกมุสลิมเปลี่ยน แต่ทรัมป์ไม่เปลี่ยน หรือ โลกมุสลิมเปลี่ยน และทรัมป์ยอมเปลี่ยนตาม อย่างแรกมีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไร โลกมุสลิมก็ต้องเปลี่ยนอยู่วันยังค่ำ

ใช้ "อาเซียน" ต่อรองอำนาจ-ถ่วงดุลจีน

เป็นที่เข้าใจได้ว่า ทรัมป์มีวิธีคิดต่อโลกมุสลิมว่าเป็นตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า โลกมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้พิจารณาว่าเป็นโลกมุสลิม แต่ในบางประเทศที่เป็นมุสลิมนั้น มีผลประโยชน์มากพอที่จะเจรจาด้วย

โดยผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คือ การใช้โลกมุสลิมในภูมิภาคนี้เป็น "เครื่องมือถ่วงดุลอำนาจจีน" ที่แผ่ขยายลงมาจากนโยบายและมาตรการทางการเมืองและเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ Belt and Road Initiative หรือ BRI เส้นทางการค้าที่เชื่อมร้อยให้จีนส่งออกสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น

ความร่วมมือจากจีนมีเงื่อนไขน้อยกว่าสหรัฐฯ ตรงนี้ ทำให้การสานสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ นั้นเสียเปรียบ เป็นปัญหาของโลกมุสลิมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ว่าจะคุยกับทรัมป์อย่างไร

แต่สัญญาณหนึ่งที่เป็นไปได้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชี้ว่า ปัญหาการปกครองมุสลิมของจีนใน ซินเจียง อุยกูร์ อาจทำให้โลกมุสลิมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันหน้าเข้าหาทรัมป์มากยิ่งขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเลือกดำเนินการแบบคิดเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ด้านคุณค่า หากคิดแบบแรก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทิ้งจีนไป จากที่กำลังได้ดุลการค้า จะเสียดุลการค้าให้สหรัฐฯ แน่นอน

สมการ"ทรัมป์" เมินมุสลิม "เอเชียกลาง-อาเซียน"

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโลกมุสลิมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออก กลาง มีแนวโน้มว่าด้วยความไม่แน่นอนที่มาจากอุปนิสัยของทรัมป์ทั้งสิ้น แต่อีกภูมิภาคหนึ่งที่ "สร้างสถานภาพ" ในฐานะโลกมุสลิมมาอย่างต่อเนื่อง คือ "เอเชียกลาง" ประกอบด้วย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งอาจจะนับรวม อาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพ COP29 เข้าไปด้วย ในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ของโลกมุสลิม มีความสำคัญต่อทรัมป์หรือไม่

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ฟันธงว่า ยากมาก เหตุผลเพราะเป็นรัฐกันชนที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของรัสเซียมาช้านาน แม้จะมีทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดการแสวงหาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่การฝ่าด้านรัสเซีย เจ้าของสัมปทานเดิม หรือจีน ที่มีความใกล้เคียงทางเผ่าพันธุ์และภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า เป็นเรื่องที่อาจจะได้ไม่คุ้มเสียของสหรัฐฯ

"สมการของทรัมป์ในโลกมุสลิม ไม่นับรวมเอเชียกลาง แม้แต่แอฟริกาเหนือ ก็ไม่นับรวม เพราะหักลบกลบหนี้แล้วถือว่าสหรัฐฯ เสียเปรียบ ส่วน "อาเซียน" สหรัฐฯ ก็ไม่หันมามอง ดังนั้น การเจรจาทวิภาคีของสหรัฐฯ คือสิ่งที่ทรัมป์จะกระทำ อยู่ที่โลกมุสลิมว่า จะถ่วงดุลแบบรวมกลุ่ม หรือเป็นรายประเทศ" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สรุป

อ่านข่าว

"ฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์" ทางรอดไทย "เลิกเร้นกาย" ในเวทีโลก

ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก

"เกรียงศักดิ์" ชำแหละ "ทรัมป์" ผลประโยชน์เป็นใหญ่ ไทยต้องรับมือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง