วันนี้ (10 ธ.ค.2567) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไขสันหลังอักเสบ เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการอักเสบของไขสันหลัง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ การอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือไม่ทราบสาเหตุ โดยมากผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ที่เกิดขึ้นในระยะเวลารวดเร็วเป็นวัน อาการผิดปกติจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีความผิดปกติ เช่นอาการชาแขนขาหรือลำตัว อาการอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านของร่างกาย สูญเสียความสามารถในการทรงตัว ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ออก บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดไฟช็อต แสบร้อน คัน หรือรับความรู้สึกผิดปกติไปจากเดิมร่วมด้วยก็ได้
สำหรับแนวทางการตรวจวินิจฉัย จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดโดยแพทย์ และมีการส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อยืนยันตำแหน่งและลักษณะความผิดปกติว่า มีการอักเสบเกิดขึ้นจริงหรือเกิดจากสาเหตุอื่น ร่วมกับการส่งตรวจเลือดและเจาะตรวจน้ำไขสันเพื่อหาสาเหตุของการอักเสบว่าเกิดจากการติดเชื้อชนิดใด หรือเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติชนิดไหน เมื่อทราสาเหตุที่จำเพาะ จะนำไปสู่กระบวนการรักษาให้ตรงตามสาเหตุ เช่น
หากพบว่าเกิดจากการติดเชื้อ เช่นจากเชื้อไวรัสงูสวัด ก็จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีด หากเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น Neuromyelitis Optica (NMO) หรือ Multiple Sclerosis (MS) ก็จะได้รับการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด อาทิ การให้สเตียรอยด์ฉีดขนาดสูง การฟอกน้ำเหลือง หรือให้ยากลุ่มยาเคมีบำบัด สำหรับผลการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรง และระยะเวลาในการเข้าถึงการรักษา ยิ่งรักษาเร็วก็จะทำให้โอกาสหายขาดสูง
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์
อ่านข่าว : หมอแถลง "ผิง ชญาดา" ไขสันหลังอักเสบ-ติดเชื้อกระแสเลือดตาย
นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ที่เก็บข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการไขสันหลังอักเสบจากภูมิคุ้มกันชนิดผิดปกติชนิด NMO และ MS จำนวน 405 คน แต่ยังไม่มีตัวเลขของภาวะไขสันหลังอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ
นอกเหนือจากการรักษาภาวะไขสันหลังอักเสบ กระบวนการรักษายังต้องเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก เช่น การติดเชื้อในระบบหายใจหรือระบบทางเดินปัสสาวะ หากลุกลามจะนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเหตุถึงแก่ชีวิตได้ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อาจจะเกิดแผลกดทับ หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและหลุดไปอุดตันเส้นเลือดแดงใหญ่ในปอดเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาอาการอักเสบของไขสันหลัง จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยลดลง เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
หากมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท หรือสงสัยว่าความผิดปกติของท่านจะเกิดขึ้นจากระบบประสาท แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะการได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดี หลงเหลือภาวะทุพลภาพน้อยที่สุด
อ่านข่าว :
รมว.สธ.ยัน "ผิง ชญาดา" เสียชีวิต ไม่ได้เกิดจาก "นวดบิดคอ"