วันนี้ (19 ธ.ค.2567) พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงประเด็น ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ ได้มีหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล นายทักษิณ ชินวัตร โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการย้ายตัวผู้ป่วยจาก รพ.ราชทัณฑ์ มายัง รพ.ตำรวจ และการดูแลรักษาที่อาจเกี่ยวข้องกับจริยธรรมทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ว่ากระบวนการสอบสวนยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมหลักฐาน โดยเป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดกรอบเวลาสอบสวนภายใน 180 วัน และสามารถขยายเวลาได้หากมีความจำเป็น
เลขาธิการแพทยสภาอธิบายว่า หากผลสอบสวนพบว่าคำร้องมีมูล จะตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยอนุกรรมการแต่ละคนจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการอย่างลับเพื่อป้องกันการแทรกแซง และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
กรณีพบว่ามีแพทย์เกี่ยวข้องและมีความผิดจริง การพิจารณาโทษจะขึ้นอยู่กับลักษณะและระดับความผิดว่ามีการจงใจหรือไม่ และผิดในหมวดหมู่ใด หากฝ่ายใดไม่พอใจกับผลตัดสินของแพทยสภา ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ได้
ย้ำชัดขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแพทย์มีความผิดตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคำชี้แจงจากแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ
สำหรับกรณีนี้ถือเป็นประเด็นที่สังคมจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ และความโปร่งใสในกระบวนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสถานะพิเศษ
อ่านข่าว : แพทยสภายื่นสอบจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ ปมทักษิณนอนชั้น 14
ทั้งนี้ พล.อ.อ.นพ.อิทธพร ยังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกระบวนการสอบจริยธรรมแพทย์ในกรณีร้องเรียนต่าง ๆ โดยระบุว่าการสอบสวนทุกกรณีดำเนินการตามข้อบังคับแพทยสภาอย่างละเอียด แม่นยำ และเป็นความลับ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
กระบวนการเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคำร้องเรียน เช่น อายุความ ประเด็นข้อกล่าวหา และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีมูล จะตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมเพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนนำผลเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภา เพื่อพิจารณาว่ามีมูลหรือไม่
หากมีมูล จะตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อลงลึกในรายละเอียด โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกสอบสวนในกระบวนการลับ เช่น การขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงราชวิทยาลัยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนถูกออกแบบมาให้รัดกุมและอิงข้อมูลวิชาการ
เลขาธิการแพทยสภายังระบุว่าผลการพิจารณาจากแพทยสภาสามารถร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ หากมีข้อสงสัยในความแม่นยำหรือกระบวนการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความยุติธรรม พร้อมกันนี้ พล.อ.อ.นพ.อิทธพร ยังขอบคุณกรรมการแพทยสภากว่า 200 คนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวนจริยธรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษามาตรฐานและความเชื่อมั่นต่อวิชาชีพแพทย์ไทย
อ่านข่าวอื่น :