กรณีที่นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมที่ดิน นำอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย รองผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ และข้าราชการท้องถิ่น พบกับชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อยืนยันสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร และกล่าวพาดพิงถึง รฟท.ในทำนองว่า รฟท.จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชนนั้น
วันนี้ (23 ธ.ค.2567) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า การดำเนินการข้างต้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนต่อการดำเนินการของ รฟท.เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขอชี้แจงว่า รฟท.เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดินของ รฟท.จึงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ทั้งนี้ รฟท. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการของกรมรถไฟ ดังนั้นบรรดาที่ดินและทรัพย์สินที่เคยเป็นของกรมรถไฟ จึงโอนมาเป็นของ รฟท. และมีหน้าที่ต้องดูแลที่ดินบริเวณเขากระโดง และติดตามเอาที่ดินของ รฟท.ที่มีการยึดถือครอบครองและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของ รฟท.
ยืนยันว่าการที่ รฟท.ทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ที่ดินบริเวณเขากระโดง ได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินประมาณ 5,000 ไร่ บริเวณต.อิสาณ และ ต.เสม็ด เป็นที่ดิน เป็นกรรมสิทธิของ รฟท.
พร้อมกันนี้ ศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้วสรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.
อ่านข่าว กรมที่ดิน ชี้แจงที่ดินเขากระโดง ยืนยันทำตามคำพิพากษาศาลฯ
นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ยังระบุด้วยว่า กรมที่ดิน มีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรฟท.ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน ที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ซึ่งเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อน และไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่ได้เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใด รฟท. จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของ รฟท.ที่ครบถ้วน และที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณานั้น
ขอชี้แจงว่า รฟท. ยื่นเอกสาร แสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมด้วย
ทั้งนี้ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท.หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอก สารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดิน และสำนักงานที่ดิน จ.บุรีรัมย์ อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดินที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการตามขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด
อ่านข่าว รฟท.ปฏิเสธเลือกปฏิบัติ กรณี "เขากระโดง" ยืนยันทำตามขั้นตอน
พร้อมขอขอยืนยันว่า สิทธิในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการทุกอย่างภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นที่ดินของ รฟท. เพื่อสงวนไว้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคน
โดยระบุว่า การแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงไม่ใช่เรื่องยาก หากกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินได้ร่วมมือกับ รฟท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองกลาง และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีฝ่ายใดนำเอาปัญหาที่ดินเขากระโดง ไปเชื่อมโยงเพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพียงหวังเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง เพราะจะทำให้การแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก
อ่านข่าว
"นักกฎหมาย" ตอบคำถาม ทำไมข้อพิพาท "ที่ดินเขากระโดง" ยังไม่จบ