ฟังเสียง คนรุ่นใหม่ รู้จัก “สึนามิ” จากอะไร ?
ถ้ามันเกิดขึ้นอีก หนูรู้แค่ต้องขึ้นภูเขา แต่จะไปภูเขาอะไร ที่ไหน ใช้เส้นทางไหน หนูไม่รู้เลย
นี่เป็นคำพูดที่แสดงถึงความกังวลของหญิงคนหนึ่ง ในวัย 20 ปีเศษ เมธาวี บำรุง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอเกิดที่จังหวัดกระบี่ แต่มาเรียนอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุสึนามิ เมื่อปี 2547 หรือ 20 ปีก่อน เธอเล่าว่าเธอเคยเป็นผู้ประสบเหตุสึนามิ แต่ตอนนั้นเธออายุเพียง 4 เดือน แม่ของเธอได้อุ้มเธอขึ้นภูเขาหนีคลื่นยักษ์ แม้จะจำความไม่ได้ แต่เธอก็รู้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนเสียชีวิตจำนวนมากจากการบอกเล่าของพ่อแม่ เธอบอกว่าเมื่อเข้ามาเรียนที่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยประสบเหตุ เธอแทบไม่รู้ว่า ต้องเอาตัวรอดอย่างไร หากวันหนึ่ง สึนามิ เกิดขึ้นอีก แต่รู้แค่ว่าต้องขึ้นเขา
จุฬารัฐ สุขเสน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เธอเป็นคนภูเก็ต แต่ห่างจากจุดเสี่ยงภัย สึนามิ มาก เธอบอกว่าเกิดไม่ทันเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 แต่เธอรู้สึกสึนามิผ่านภาพยนตร์ พอจะมองภาพออก ว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร
ตั้งแต่สมัยเรียนประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย หนูยังไม่เคยผ่านการฝึกซ้อมการเอาตัวรอดจากสึนามิเลย แม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หนูคิดว่าการฝึกซ้อมสำคัญมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต แสดงความเห็นเกี่ยวการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ในพื้นที่เสี่ยงภัยว่า แม้ไทยจะมีการปรับปรุงฐานข้อมูลการเตือนภัย มีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลประชาชน แต่จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่เพียงพอต่อการเฝ้าระวัง หรือ การเอาตัวรอด หน่วยงานรัฐอาจต้องทำหน้าที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการย่อยข้อมูลยากให้เป็นเรื่องง่าย
ในแง่ของสินามิ การถ่ายทอดบทเรียนให้เด็กในยุคปัจจุบัน ถ้าเกิดเหตุไปไหน อพยพ อย่างไร ลองถามเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี เขาจะรู้หรือไม่ 57 ถึงเวลาที่เราต้องฟื้น รำลึกถึงเหตุการณ์ เพื่อให้ทุกคนตนะหนักเกี่ยวกับการเอาตัวรอด ได้หรือยัง
20 ปี มีอะไรเปลี่ยนไป
ชายหากกะตะ – กะรน อำเภอเมืองภูเก็ต ถูกจัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เพิ่งจะไปเยือนพื้นที่นี้ จะรับรู้จากป้ายเตือน และ แท่งเสาเหล็กสีฟ้า ที่ถูกปักไว้ริมฟุตปาธ เลียบชายหาดกะตะ มีข้อความระบุว่า “TSUNAMI HAZART ZONE” หรือ พื้นที่เสี่ยงภัยสึนามี และระบุความสูง ที่คลื่นยักษ์เคยซัดถล่มที่นี่ เมื่อปี 2547 เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นภาพถึงผลกระทบที่เคยเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีป้ายเตือน มีข้อความระบุว่า พื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์ เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้หนีห่างจากชายหาดและขึ้นที่สูงโดยเร็ว พร้อมกับมีป้ายชี้ทางไปยังจุดปลอดภัย ตลอดแนวถนน หากเดินไปตามไป จะถึงถนนใหญ่ ซึ่งเป็นที่สูง ใกล้ภูเขา อยู่ห่างจากชายหาดประมาณ 800 เมตร
ป้ายเตือนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าพื้นที่ให้ความสำคัญการรับมือ ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากในอดีต และน่าสนใจว่า ผู้คนที่มาเยือนพื้นที่นี้ จะสนใจป้ายเหล่านี้หรือไม่ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน องค์ความรู้ของประชาชน การสื่อสารด้านภัยพิบัติกับนักท่องเที่ยวว่าพื้นที่ตรงนั้นคือพื้นที่เสี่ยง และ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากเกิดเหตุสินามิ เป็นประเด็นที่คนพื้นที่มองว่า ยังต้องพัฒนาอีกมาก
อาคารหลบภัย TSUNAMI พร้อมใช้งาน หรือไม่
อาคารหลบภัยสึนามิ ที่แหลมปะการัง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นหนึ่งในอาคารหลบภัยหลายๆแห่ง ที่มีการก่อสร้าง เพื่อเป็นที่ปลอดภัย ใช้สำหรับหลบคลื่นสึนามิ หลังเกิดเหตุเมื่อปี 2547 แต่ 20 ปีผ่านไป อาคารแห่งนี้ อยู่ในสภาพทรุดโทรม เครื่องอำนวยความสะดวกหลายส่วนใช้งานไม่ได้ เช่น ประตูทางเข้าบนอาคารได้รับความเสียหาย มีโซ่คล้อง กระจกแตก ห้องน้ำใช้งานไม่ได้ สายไฟฟ้าขาด อุปกรณ์รับส่งสัญญาณสายสัญญาณถูกตัดสายทิ้ง ใช้งานไม่ได้ ยังมีอาคารหลบภัยอีกหลายแห่ง อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีเครื่องมือเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ไม่พร้อมใช้งาน
ติดตาม 20 ปี สึนามิ …จุดเปลี่ยนภัยพิบัติ ตอน “wakeup ตื่นเตือนภัย” ในรายการข่าวค่ำ วันที่ 25 ธันวาคม 2567 เวลา 18.50 น. เป็นต้นไป ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และ https://www.thaipbs.or.th/live และ ทาง LIVE โซเชียลมีเดีย Thai PBS News , Thai PBS
อ่านข่าว :
20 ปี เหตุ "สึนามิ" ศพผู้เสียชีวิตยังไร้ญาติ
ย้อนเหตุ 20 ปี "สึนามิ" ถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน
นทีสีคราม มหันตภัย "สึนามิ" โหดร้ายเกินมนุษย์จะคาดเดา