ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ มารู้จัก "สัตว์ป่าสงวน-คุ้มครอง"

สิ่งแวดล้อม
26 ธ.ค. 67
08:51
674
Logo Thai PBS
26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ มารู้จัก "สัตว์ป่าสงวน-คุ้มครอง"

เตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2568 ซึ่งตรงกับ "ปีงูเล็ก" หรือ "ปีมะเส็ง" และนับถอยหลังส่งท้ายปี 2567 "งูใหญ่" หรือ "ปีมะโรง" ใน "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" ปีนี้ 26 ธันวาคม จึงชวนมาทำความรู้จักกับสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าสงวนของไทย รวมถึงเรื่อง "งู" ในประเทศไทย ที่มีกว่า 10 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 

วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ สำคัญอย่างไร 

วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ" กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามไม่จะเป็นการสูญเสีย "แหล่งที่อยู่อาศัย" และ "การล่า" โดยผิดกฎหมาย ช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติของชาติกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังอดีต 

หากย้อนไปในอดีตทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ผืนป่ายังไม่ถูกรกราน จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการส่ง นอแรด งาช้าง และของป่า ไปขายยังต่างประเทศจำนวนมาก สัตว์ป่าเริ่มลดจำนวนลงจากการถูกรุกราน

จนถึงกับต้องมีการออกกฎหมายมาควบคุม โดยกฎหมายฉบับแรกเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราษฎรยังมีการคล้องช้างป่า เพื่อนำช้างมาใช้งานเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล็งเห็นถึงปัญหาที่ตามมา จึงได้ทรงตรา พ.ร.บ.สำหรับรักษาช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ.2443) ขึ้น เพื่อให้ช้างป่าไม่ถูกทอดทิ้งให้อดอยากหรือได้รับการทรมาน 

กระทั่งมาถึงยุคมืดของสัตว์ป่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ในสงคราม ได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นอาวุธของผู้ชื่นชอบการล่าสัตว์ป่า ขณะที่การพัฒนาประเทศและการเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น  ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พระยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในขณะนั้น และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรา พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศฉบับแรกของไทย

ภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 และอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทันต่อสมัยและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ตรา พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ 

สัตว์ป่าสงวน - สัตว์ป่าคุ้มครอง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  

"สัตว์ป่าสงวน" หมายความว่า สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด  

"สัตว์ป่าคุ้มครอง" หมายความว่า สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากร ของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ 

2567 เปิดรายชื่อ 21 สัตว์ป่าสงวนของไทย 

สัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ป่าที่หายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งสัตว์ป่าสงวนของไทยในปัจจุบัน (ปี 2567) มีทั้งสิ้น 21 ชนิด ได้แก่ 

1. แรดชวา : เป็นสัตว์ป่าสงวนในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการ สูญพันธุ์ ซึ่งคาดว่ามีน้อยกว่า 50 ตัวใน อุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

2. กระซู่ : เป็นแรดที่เล็กที่สุดในโลก มี 2 นอเหมือนแรดแอฟริกา ลำตัวมีขนหยาบและยาวปกคลุม ถือเป็น สัตว์ป่าไทย ที่ในปัจจุบันได้ สูญพันธุ์ ไปแล้ว และคาดว่าเหลืออยู่บนโลกนี้ไม่ถึง 100 ตัว 

3. ควายป่า : มีขนาดใหญ่กว่า ว่องไวและดุร้ายกว่าควายบ้าน ในอดีตพบได้ในป่าของไทยเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ แล้ว

4. กูปรี : เป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า ตัวโต โคนขาใหญ่ และปลายหางเป็นพู่ขน ปัจจุบันอยู่ในสถานะ สูญพันธุ์ ซึ่งไม่มีรายงานการพบเห็นมานานแล้ว

5. ละอง หรือ ละมั่ง : เป็นกวางขนาดกลาง มีขนสีน้ำตาลแดงตามลำตัว สีขนจะอ่อนและร่วงจนดูสั้นลงมากในช่วงฤดูร้อน ขนหยาบและยาวในฤดูหนาว 

6. สมัน : เป็นกวางที่มีขนสีน้ำตาลเข้มตามลำตัว ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางมีสีขาว ตัวผู้มีเขาแตกแขนงออกเหมือนกิ่งไม้ ในอดีตมักกระจายพันธุ์ตามที่ราบลุ่มในภาคกลางของไทย

7. เลียงผา : เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นตามบริเวณภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน ลักษณะคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ตามลำตัวมีขนเส้นเล็กและหยาบสีเทาอมดำ 

8. กวางผา : เป็นสัตว์ป่าสงวนกับสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีรูปร่างคล้ายแพะ ในประเทศไทยพบได้ตาม ป่าไม้ เฉพาะทาง ภูเขา สูงชันในภาคเหนือ แต่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

9. แมวลายหินอ่อน : มีขนาดตัวเท่าแมวบ้าน ถือเป็นสัตว์ป่าสงวนที่พบได้ตามป่าเพญจพรรณของไทย อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

10. เก้งหม้อ : เป็นสัตว์ป่าจำพวกกวาง จัดเป็นเก้งที่หายากที่สุดในโลก ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์แล้ว

11. สมเสร็จ : เป็นสัตว์ที่มีหน้าตาแปลกประหลาด เพราะมีรูปร่างคล้ายหมู แต่ขายาว จมูกยาวคล้ายงวงช้าง 

12. พะยูน : สัตว์น้ำ ชนิดแรกของไทยที่ถูกจัดเป็น สัตว์ป่าสงวน ลักษณะคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างอ้วนกลม ส่วนครีบแลดูคล้ายใบพาย

13. วาฬบรูด้า : วาฬบรูด้าเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ในไทยพบวาฬบรูด้าทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน พบหากินใกล้ฝั่ง มีลำตัวยาวประมาณ 15 เมตร ลักษณะเฉพาะคือส่วนหัวมีสันนูน 3 สัน จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 

14. วาฬโอมูระ : เป็นวาฬสายพันธุ์ที่หายาก ลักษณะใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยพบได้ในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ขนาดโตเต็มที่ยาว 9-11.5 เมตร 

15.วาฬสีน้ำเงิน : จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีลักษณะเด่น คือส่วนหัวมีสีน้ำเงินสม่ำเสมอ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำเงินอมเทา วาฬสีน้ำเงินขนาดโดยทั่วไปจะยาวประมาณ 30-34 เมตร อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงในมหาสมุทรแอนตาร์กติกด้วย  

16. เต่ามะเฟือง : เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 ซม. หนัก 900 กก. กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว ในไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของ จ.พังงาและภูเก็ต

17. ปลาฉลามวาฬ : ถือเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มที่อาจมีความยาวมากถึง 21 เมตร และหนักได้ถึง 42 ตัน ฉลามวาฬ ได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของ ไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2562

18. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร : พบในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพียงที่เดียวในโลกเท่านั้นปัจจุบันกลายเป็นสัตว์ปีกที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

19. นกแต้วแร้วท้องดำ : เป็นสัตว์ป่าสงวนที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ทั้งตัวผู้และตัวเมียนั้นมีสีสันแตกต่างกัน พบได้ทั้งในประเทศไทยและเมียนมา

20. นกกระเรียนไทย : จัดว่าสูงที่สุดในโลกในบรรดานกบินได้ทั้งหมด และเป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย นับเป็นนก สายพันธุ์ หนึ่งที่เคย สูญพันธุ์ ไปแล้ว และถูกเพาะพันธุ์ขึ้นมาอีกครั้ง

21. นกชนหิน : เป็นสัตว์ป่าสงวน 2567 ชนิดที่ 20 ถูกจัดอยู่ในประเภท สัตว์ปีก ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2564 

เช็กลิสต์สัตว์ป่าคุ้มครอง 

ส่วน "สัตว์ป่าคุ้มครอง" สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากร ของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ปัจจุบันมีอะไรบ้าง 

ล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีท้าย กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 2 บัญชี ดังนี้

บัญชี 1 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ ได้แก่

  • จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 176 รายการ
  • จำพวกนก จำนวน 948 รายการ
  • จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 68 รายการ
  • จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 4 รายการ
  • จำพวกแมลง จำนวน 20 รายการ

ส่วนบัญชี 2 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ

  • จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 21 รายการ
  • จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 20 รายการ
  • จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 6 รายการ
  • จำพวกปลา จำนวน 30 รายการ
  • จำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำนวน 13 รายการ

รวมทั้งเพิ่ม 8 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้

  • ค่างตะนาวศรี (Trachypithecus barbei)
  • งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis)
  • ปลากระเบนปีศาจหางเคียว (Mobula tarapacana)
  • ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum)
  • ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii)
  • ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ (Sphyrna zygaena)
  • ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini)
  • ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran)

"งู" 14 ชนิด ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง 

สัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภท "งู" ตาม กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ห้ามล่า ห้ามฆ่า ห้ามกิน ห้ามเลี้ยง เหตุผลที่จับได้แล้วต้องปล่อยสู่ธรรมชาติ จำนวน 14 ชนิด ดังนี้

  • งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum)
  • งูจงอาง (Ophiophagus Hannah)
  • งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma prasina)
  • งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน (Elaphe flavolineata)
  • งูทางมะพร้าวแดง (Elaphe porphyracea)
  • งูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata)
  • งูทางมะพร้าวหางดํา หรืองูใบ้ หรืองูทางมะพร้าวถํ้า (Elaphe taeniura)
  • งูสิง (Ptyas korros)
  • งูสิงหางดํา (Ptyas carinatus)
  • งูสิงหางลาย หรืองูสิงลาย (Ptyas mucosus)
  • งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor)
  • งูหลาม (Python molurus bivittatus)
  • งูหลามปากเป็ด (Python curtus)
  • งูเหลือม (Python reticulatus)

มาถึงตรงนี้ได้รู้แล้วว่า "งู" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และยังเป็นหนึ่งใน "สัตว์เลื้อยคลาน" ที่พบเห็นได้ในเมืองบางครั้งไปโผล่ตามแหล่งชุมชน บ้านเรือน สวนสาธารณะ ทั้ง 14 ชนิดนี้ ห้ามล่า ห้ามทำอันตราย ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง หรือ กระทำการค้าซึ่งสัตว์ป่าฯ และซากของสัตว์ป่าฯ ดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

งูในฐานะสัตว์ป่าคุ้มครอง มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากงูไม่ได้เป็นเพียงผู้ล่าที่ควบคุมประชากรสัตว์อื่น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ ความสำคัญของงูในระบบนิเวศ

1. ผู้ควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะ งูหลายชนิด เช่น งูเห่า งูสิง และงูเหลือม เป็นผู้ล่าธรรมชาติที่ช่วยลดจำนวนสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู ที่เป็นศัตรูพืชและพาหะนำโรค การลดจำนวนหนูช่วยป้องกันความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร

2. รักษาสมดุลห่วงโซ่อาหาร งูอยู่ในระดับกลางของห่วงโซ่อาหาร โดยเป็นทั้งผู้ล่าและเหยื่อ งูถูกล่าโดยสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ เช่น เหยี่ยว นกล่าเหยื่อ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด

3. ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การพบงูในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการคงอยู่ของระบบนิเวศที่สมดุล การลดจำนวนงูอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  

อ่านข่าว : "เมืองทอง ยูไนเต็ด" เตรียมฟ้องผู้เผยแพร่ Fake News

"แบงค์ เลสเตอร์" คนดังโซเชียล เสียชีวิตหลังถูกจ้างดื่มเหล้า

ศาลให้ประกันชาย 75 ปี เมาขับชนหน้าโรงเรียน ตร.-นร.เสียชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง