ความคืบหน้ากรณีการตรวจยึด "ลูกกอริลลา" ที่สนามบินอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยพบมีปลายทางเข้าประทศไทย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) เข้าตรวจสอบฟาร์มแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ที่ถูกระบุเป็นปลายทางส่งลูกกอริลลา
- พิรุธใบ Invoice สวมสิทธิ "กอริลลา" นำเข้ากระต่าย 50 ตัว
- ใครสั่ง! "ลูกกอริลลา" ปลายทางเข้าไทย ยึดคาสนามบินอิสตันบูล
วันนี้ (26 ธ.ค.2567) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรณีลูกกอริลลา ที่ตรวจยึดได้ที่สนามบินประเทศตุรกี เป็นการตรวจพบที่ต่างประเทศ และมีปลายทางอยู่ที่ไทย เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) ได้ร่วมกับ ปทส.ในการขอหมายค้นเข้าตรวจค้นบริษัทปลายทางที่ถูกระบุไว้ในใบ Invoice หรือเอกสารที่ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการออกให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งยังไม่พบอะไร
ยังจะขยายผลตรวจสอบต่อ และมีการประสานงานกับตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่ตรวจพบ และไนจีเรียที่เป็นประเทศต้นทาง ยืนยันไม่ปล่อยเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
เมื่อถามว่าในอนาคตจะมีมาตรการป้องกันในระดับสากลอย่างไรบ้าง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ร่วมมือในระดับนานาชาติอยู่แล้ว ตำรวจประสานงานในระดับสากล มีการประสานงานในทุกภาคส่วนในเรื่องการการป้องกัน แต่ต้องยอมรับว่าการทำผิดกฎหมาย ทส.เป็นฝ่ายป้องกัน ฝ่ายระวัง แต่อีกฝ่ายจ้องทำความผิด จึงเกิดปัญหา แต่ก็จะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น โดยจะเห็นได้ว่ามีการจับกุมมากที่สุดในช่วงนี้ เพราะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย
ส่วนไทยจะเป็นเพียงปลายทางหรือจะมีการส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน
ยังแจ้งเอาผิดฟาร์มปลายทางไม่ได้
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยอมรับว่า จากการเข้าตรวจค้นฟาร์มใน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นปลายทางที่ระบุชื่อนำเข้าลูกกอริลลา และสำแดงเป็นกระต่าย ยังไม่สามารถแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายได้โดยขณะนี้อยู่ระหว่างได้รวบรวมเอกสาร และพยานหลักฐาน และขยายผลเครือข่ายค้าสัตว์ป่าจตุจักรเพิ่มเติม
อธิบดีกรมอุทยาน กล่าวว่า ยังมีข้อสงสัยบางเรื่อง เช่น กล่องบรรจุกระต่าย เขาอ้างว่าทำลายไปแล้ว รวมถึงคนต่างชาติที่เขาอ้างว่ามาติดต่อให้ซื้อกระต่ายที่ไม่มีคอนแท็กแล้ว จึงต้องหาหลักฐานต่าง ๆ เพิ่ม แม้กระบวนการนำลูกกอริลลายังไม่มาถึงไทย แต่ในส่วนที่มีการเชื่อมโยงการทำผิด และข้อมูลที่ต้องประสานกับไนจีเรียต้องหาให้มากขึ้น
มี 2 มุมที่ต้องหาให้ชัดว่าเป็นการนำลูกกอริลลามาปนมากับกระต่าย หรือใช้เอกสารปลอมสำแดงเป็นกระต่าย เพื่อลักลอบขนกอริลลา เพราะบริษัทต้นทางไนจีเรีย และปลายทางที่ฟาร์มแห่งนี้ต่างก็ทำธุรกิจนำเข้าสัตว์
นอกจากนี้ วิเคราะห์ว่าการนำลูกกอริลลาส่งมาไทย น่าจะส่งไปยังประเทศที่ 3 มากกว่าที่จะแอบเลี้ยงในไทย เพราะถ้าจะเลี้ยงต้องเลี้ยงในที่ลับ เพราะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ดังนั้นเชื่อว่าจะส่งมาเพื่อการค้าส่งไปยังประเทศอื่น
กรมอุทยานฯ จะต้องเช็กสต็อกการนำเข้าสัตว์ของฟาร์มแห่งนี้เพิ่มเติม โดยทางตำรวจสอบสวนกลางจะสืบสวน เพราะไม่มีข้อมูลหลักฐาน จะพาดพิงและเอาผิดได้ยาก
พิรุธลังใส่กอริลลา-ใบ Air Waybill
ไทยพีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ลังใส่กระต่าย และลังใส่ลูกกอริลลาที่ตรวจยึดที่สนามบินอิสตันบูลนั้นมีความคล้ายกันมาก ภาพที่ได้รับมาเทียบกัน ระหว่างลังใส่กระต่ายที่ถูกระบุใบ Air Waybill No.XXX-XXXXX442 ซึ่งระบุว่าสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ต้นทางจากสนามบินนามดิ อาซิคิเว ประเทศไนจีเรีย
โดยสินค้ามี 2 ลังน้ำหนัก 150 กิโลกรัม สำแดงเป็นกระต่าย ที่เข้ามาถึงไทยเมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาแต่ขัดแย้งกับลูกลิงกอริลลาที่ตรวจยึดได้เมื่อ 21 ธ.ค.
อ่านข่าว ด่วน! บุกค้นฟาร์มดังนครปฐม โยงปลายทางลอบค้ากอริลลา
แหล่งข่าวระบุว่าลังไม้ สำหรับใช้ขนสัตว์ เช่น ตัวกระต่ายที่นำเข้าทางบริษัทอ้างว่ามีหมายเลขไมโครชิปทุกตัว และบางตัวตายระหว่างการเดินทางมาถึงไทย ตามปกติการขนกระต่าย จะไม่ใช่ลังทรงสูง และใส่กระต่ายที่แออัดมากถึง 25 ตัวแบ่งเป็น 2 ลัง
การเข้าตรวจสอบกลับพบว่านำไปเผาทิ้งแล้ว ไม่สามารถติดต่อผู้ที่สั่งซื้อได้โดยได้เพียงค่ามัดจำกระต่ายตัวละ 3,000 บาทมาแล้ว ในราคา 150,000 บาท และปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องของกอริลลา
ขณะที่การแถลงข่าวของ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส.ยังตั้งปมเรื่องของการตรวจค้นว่ายังมีข้อสงสัยที่ต้องทำให้สิ้นสงสัย ซึ่งพบว่ามีการนำเข้ามาถูกต้อง โดยเอกสารใบ Invoice สำแดงเป็นกระต่าย 50 ตัว และเดินทางมาถึงไทย แล้วแต่กลับพบใบ Invoice ตรงกับกอริลลาที่ยึดได้ที่สนามบินอิสตันบูล
ยังมีข้อพิรุธที่เปิดไม่ได้ และต้องตรวจสอบเพิ่ม ซึ่งการนำเข้าสัตว์ในบัญชีไซเตส ต้องแจ้งกรมอุทยานฯ การที่นำเข้ากระต่ายจึงไม่ต้องแจ้ง แต่ทำไมถึงพบว่ามีลูกกอริลลาเข้ามาแทนกระต่าย
สำหรับเคสลูกกอริลลา ที่ตรวจยึดได้ที่สนามบินอิสตันบูล สำนักงานท้องถิ่น CITES กำลังขยายผลหาความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง และปลายทาง กระทั่งพบว่าต้นทางมีการนำเข้ามาจากประเทศไนจีเรีย
อ่านข่าว
แม่ถูกฆ่า ลูกถูกขาย! โศกนาฏกรรม "กอริลลา" ในตลาดมืด