วันนี้ (28 ธ.ค.2567) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โพสต์ข้อความว่า ร่วมลุ้นชมดาวหางดวงใหม่ ขณะนี้กำลังโคจรเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และกำลังมีความสว่างปรากฏเพิ่มมากขึ้น
โดยในช่วงต้นเดือน ม.ค.2568 อาจมีความสว่างใกล้เคียงเทียบเท่าดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่เพิ่งจะปรากฏโดดเด่นบนท้องฟ้าในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า “ดาวหางแอตลัส G3” หรือชื่อทางการคือ “Comet C/2024 G3 (ATLAS)” ค้นพบเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2567 โดยเครือข่ายกล้อง โทรทรรศน์ ATLAS ในขณะนั้นดาวหางมีค่าแมกนิจูดปรากฏ 19 (ริบหรี่กว่าดาวพลูโตที่มีค่าแมกนิจูดปรากฏเฉลี่ยที่ 15.1) และอยู่ห่างจากโลก 4.4 หน่วยดาราศาสตร์
ล่าสุดข้อมูลจากการสังเกตการณ์ ณ วันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ดาวหางแอตลัส G3 มีความสว่างเพิ่มมากขึ้น มีแมกนิจูดปรากฏประมาณ 8.1 (ประมาณความสว่างของดาวเนปจูน) ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง
13 ม.ค.ดาวหางแอตลัส G3 ใกล้โลกมากสุด
โดยดาวหางจะสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กำลังมุ่งหน้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 13 ม.ค.2568 ที่ระยะห่าง 13.5 ล้านกิโลเมตร (ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าระยะห่างเฉลี่ยของดาวพุธจากดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า) ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ดาวหางมีความสว่างมากที่สุด
นอกจากนี้ หากดาวหางแอตลัส G3 สามารถฝ่าความร้อนจากดวงอาทิตย์ในช่วงที่เฉียดเข้าใกล้มากที่สุด โดยไม่แตกหรือสลายตัวเสียก่อน ดาวหางดวงนี้อาจสว่างได้มากถึงระดับแมกนิจูดปรากฏราว-3 (สว่างกว่าดาวพฤหัสบดี) ไปจนถึง -4.5 (ประมาณความสว่างดาวศุกร์)
ซึ่งความสว่างของดาวหางจะเพิ่มขึ้น จากปริมาณฝุ่นและแก๊สที่ฟุ้งกระจายมากยิ่งขึ้น ร่วมกับการกระเจิงแสงอาทิตย์ผ่านหางที่ทอดยาว และบรรยากาศชั้นโคมา ที่ฟุ้งบริเวณหัวดาวหาง เช่นเดียวกับกรณีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
แต่เนื่องจากในช่วงที่ดาวหางเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะมีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก (ประมาณ 5 องศา) ทำให้การตามดูดาวหางในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีแสงของดวงอาทิตย์รบกวน
ดังนั้นภาพถ่ายจากยานโซโห ที่เฝ้าติดตามและถ่ายภาพห้วงอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการติดตามภาพถ่ายของดาวหางดวงนี้ โดยดาวหางแอตลัส G3 จะปรากฏอยู่ในมุมมองกล้องถ่ายภาพโคโรนาของยานโซโหในช่วงวันที่ 11-14 ม.ค.2568
หลังจากนั้น เนื่องจากดาวหางมีการโคจรขาออกมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ ทำให้มุมเงยของดาวหางในช่วงหัวค่ำ เหนือขอบฟ้าทางตะวันตกเฉียงใต้ ค่อนข้างต่ำมาก (ในบริเวณแสงสนธยาเหนือขอบฟ้า) จึงอาจสังเกตได้ยากมาก ยิ่งกว่ากรณีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส (ที่มีการโคจรขาออกมุ่งหน้าไปทางเหนือ)
การคำนวณวงโคจรของดาวหางแอตลัสในช่วงแรกบ่งชี้ว่า ดาวหางดวงนี้โคจรเข้ามาจาก “เมฆออร์ต” ในบริเวณขอบนอกสุดของระบบสุริยะ ซึ่งมีวัตถุน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมากและเป็นแหล่งก่อกำเนิดดาวหางคาบยาวหลายดวง
เบื้องต้นนักดาราศาสตร์คาดว่า อาจเป็นครั้งแรกที่ดาวหางแอตลัส G3 โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แต่ในที่สุดการสังเกตการณ์ดาวหางแอตลัสเพิ่มเติมในเวลาต่อมา บ่งชี้ว่าดาวหางแอตลัส G3 อาจเคยโคจรเข้ามาระบบสุริยะชั้นในแล้วเมื่อประมาณ 135,000-160,000 ปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม