ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหรัฐฯ เป้าหมายใหม่ไอเอส ? โยงรถยนต์ก่อเหตุรุนแรง 2 ครั้งซ้อน

ต่างประเทศ
3 ม.ค. 68
12:35
190
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ เป้าหมายใหม่ไอเอส ? โยงรถยนต์ก่อเหตุรุนแรง 2 ครั้งซ้อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การใช้รถยนต์ก่อเหตุรุนแรงถึง 2 ครั้งซ้อนในวันขึ้นปีใหม่ที่สหรัฐฯ สร้างความหวาดกลัวเป็นวงกว้างถึงการกลับมาของการก่อการร้ายที่เคยคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตก ยุคที่กลุ่ม IS เรืองอำนาจ FBI ต้องเร่งหาคำตอบว่า IS เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2568 ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ก่อเหตุขับรถพุ่งชนคนบนถนนท่องเที่ยวชื่อดังใน นิว ออร์ลีนส์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ IS ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขั้นตอนและวิธีการในการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้แทบจะลอกแบบมาจากคู่มือการก่อการร้ายของ IS

กล้องวงจรปิดจับภาพของรถกระบะสีขาวที่ขับมาตามถนน ก่อนที่จะเร่งความเร็วและหักเลี้ยวเข้าไปในถนนเบอร์เบิน เพื่อพุ่งชนผู้คนที่ออกมาเดินถนนในค่ำคืนของการเฉลิมฉลอง เหตุการณ์นี้จบลงหลังจากผู้ก่อเหตุลงจากรถและเปิดฉากยิง ก่อนที่จะถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีอย่างน้อย 15 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 35 คน

ขณะที่เจ้าหน้าที่พบธง IS ในรถคันที่ก่อเหตุ รวมทั้งพบคลิปวิดีโอที่ "แชมซุด-ดิน จาบบาร์" ผู้ก่อเหตุชาวอเมริกัน วัย 42 ปี จากรัฐเท็กซัส ระบุว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก IS และเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ โดยปัจจุบัน IS ยังไม่ได้ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในครั้งนี้ 

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ IS ประกาศให้ผู้สนับสนุนใช้วิธีขับรถพุ่งชนคน ถ้าไม่สามารถวางระเบิดหรือก่อเหตุกราดยิงได้ เหตุโจมตีที่นีซในวันชาติฝรั่งเศสเมื่อปี 2559 ก็กลายเป็นการก่อการร้ายจากฝีมือนักรบ IS ที่ใช้รถพุ่งชนคนครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 86 คน และอีกหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยการโจมตีในลักษณะคล้าย ๆ กันในหลายเมืองใหญ่ของโลกตะวันตก เช่น เหตุขับรถบรรทุกพุ่งชนคนในตลาดคริสต์มาสที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เหตุขับรถชนคนบนสะพานเวสต์มินเตอร์ ด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เหตุขับรถพุ่งชนคนบนถนนท่องเที่ยวในบาร์เซโลนาของสเปน ไปจนถึงที่นิวยอร์ก เมื่อปี 2560 ที่ผู้ก่อเหตุโจมตีโดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม IS

จุดร่วมอย่างหนึ่งของการก่อเหตุเหล่านี้ นอกจากเรื่องแนวคิดอิสลามสุดโต่งแล้ว ก็คือ การใช้วิธีการใดในการก่อเหตุก็ได้ เพื่อคร่าชีวิตของผู้คนให้ได้มากที่สุด โดยตามตำราของ IS นั่นก็คือ การขับรถพุ่งชน ก่อนจะเริ่มเปิดฉากยิง หรือไล่แทงคน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะจบลงด้วยการที่ผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญฆาตกรรม

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายหลายคนจะออกมาตั้งข้อสังเกตว่า IS เกี่ยวข้องกับตัวผู้ก่อเหตุมากน้อยแค่ไหน และมีบทบาทในเหตุโจมตีที่ นิว ออร์ลีนส์ ในฐานะแรงบันดาลใจ หรือเป็นผู้สั่งการโดยตรง

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ FBI และ CIA ต่างออกมาส่งสัญญาณตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุก่อการร้าย โดยเฉพาะนับตั้งแต่สถานการณ์ในตะวันออกกลางร้อนระอุจากเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่ม IS-K ใช้โฆษณาชวนเชื่อบนสื่อสังคมออนไลน์และชักจูงคนให้เข้าเป็นสมาชิก เพื่อก่อเหตุโจมตีในสหรัฐฯ

การขับรถพุ่งชนคนเป็นการโจมตีที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดอิสลามสุดโต่งเท่านั้น โดยเรายังเห็นเหตุโจมตีลักษณะนี้ด้วยสาเหตุอื่น ๆ บ่อยมากขึ้น เช่น ที่ ชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อปี 2560 ผู้ก่อเหตุมีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาวและขับรถชนผู้ประท้วงต่อต้านแนวคิดดังกล่าว

ส่วนเหตุโจมตีในออนแทริโอ เมื่อปี 2564 ผู้ก่อเหตุชาวแคนาดาซึ่งมีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาว ตั้งใจขับรถชนครอบครัวชาวมุสลิม ขณะที่บางเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เครียดหรือโกรธแค้นสังคม อย่างเช่นที่จีน เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ศูนย์กีฬาในเมืองจูไห่มากถึง 35 คน

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. FBI จับมือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ ประกาศคำเตือนร่วมไปยังตำรวจเกี่ยวกับภัยคุกคามร้ายแรงจากผู้ก่อเหตุที่ลงมือเพียงลำพัง ในช่วงเทศกาลฤดูหนาว

หน่วยงานในสหรัฐฯ ประเมินว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถานที่สาธารณะที่ใช้จัดงานรวมตัวขนาดใหญ่ แต่มีการรักษาความปลอดภัยต่ำกว่าที่อื่น ๆ โดยจะใช้วิธีก่อเหตุที่ไม่ซับซ้อน เช่น ใช้มีดไล่แทงคน ใช้ปืนกราดยิง หรือขับรถพุ่งชนคน เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่านการฝึกซ้อม เข้าถึงอาวุธได้ง่ายและก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง

ในระยะหลัง ๆ มานี้ สถานการณ์ก่อการร้ายในโลกตะวันตกดูจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต โดยรายงานดัชนีก่อการร้ายโลกฉบับล่าสุด ชี้ว่า เมื่อปี 2566 เกิดเหตุก่อการร้ายในโลกตะวันตก 25 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี แต่สถานการณ์ในสหรัฐฯ เลวร้ายกว่าชาติอื่น ๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญเหตุโจมตีที่เข้าข่ายก่อการร้ายไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง

อ่านข่าวเพิ่ม :

FBI เร่งสอบรถเทสลาระเบิดหน้า รร.ทรัมป์ โยงเหตุ นิว ออร์ลีนส์

รถพุ่งชนประชาชนในนิวออร์ลีนส์ เบื้องต้นตาย 10 เจ็บกว่า 30

FBI สอบเหตุขับรถพุ่งชนคนในนิวออร์ลีนส์ อาจเป็นก่อการร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง