การตรวจ "ระดับน้ำตาลในเลือด" ในการตรวจสุขภาพประจำปี มีความสำคัญเนื่องจากช่วยประเมินความเสี่ยงของโรค ซึ่งหากผลออกมาอยู่ในเกณฑ์ "สูง" หรือ "ต่ำ" กว่าค่าปกติ อาจส่งผลต่อสุขภาพ มีแนวโน้มเกิดโรคอื่น ๆ ได้ วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจ ระดับน้ำตาลในเลือดให้มากขึ้น
"ระดับน้ำตาลในเลือด" คือ การวัดระดับความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด นั้นเพื่อประเมินว่า ร่างกายสามารถควบคุมน้ำตาล ได้ดีแค่ไหน ซึ่งในการตรวจวัด เพื่อหาค่าระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ควรงดอาหาร เครื่องดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง นั้นเพราะ อาหารที่รับประทานมาจะมีผลต่อ "ระดับกลูโคสในเลือด"
อ่านข่าว : นักธุรกิจดังปั่นจักรยาน 2 ชม.จนน้ำตาลหมด วูบล้มกระโหลกแตก
ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ปกติอยู่ที่เท่าไร
ค่าน้ำตาลในเลือดที่บ่งบอกว่า "ปกติ" หรือ "สูง" กว่าปกติ นั้นดูได้อย่างไร และเสี่ยงอะไรบ้าง
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือด : 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร "อยู่ในภาวะปกติ"
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง : 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร "มีความเสี่ยง หรือ เรียกว่า เบาหวานแฝง"
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง : มากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร "มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน"
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สัญญาณเตือน
แล้วหาก "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ" กว่านั้น คืออะไร จะเกิดอะไรขึ้น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ Hypoglycemia คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจพบน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
มีคำอธิบายจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า อาการที่พบขึ้นกับความรุนแรงของภาวะดังกล่าว ในระยะแรกที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงไม่มาก ผู้ป่วยจะมีอาการเตือน ซึ่งเป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ รู้สึกอ่อนเพลีย หวิว ๆ ร่วมกับมีการหิว อยากรับประทานอาหาร มือสั่น ใจสั่น กระสับกระส่าย
หากภาวะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำลงมาก จนทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการของ "สมองขาดน้ำตาล" ปวดมึนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง มือชา ปากชา
และหากเป็นรุนแรง อาจมีอาการชัก หรือ หมดสติ ด้วย หากปล่อยให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะใน "ผู้สูงอายุ" อาจส่งผลต่อความจำทำให้เกิด ความจำเสื่อม สมองพิการ ในบางคนอาจหลับไม่ตื่น เนื่องจากสมองพิการอย่างถาวร
สาเหตุของการเกิด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- กินอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ตรงเวลา
- ออกกำลังกายมากเกินควร
- ดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ฉีดอินซูลินเกินขนาด หรือการใช้ยาบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
อาการ "น้ำตาลในเลือดต่ำ"
- ตัวสั่น กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก
- รู้สึกหิวรุนแรง หัวใจเต้นแรง
- ชาปลายนิ้วมือ ปลายเท้า หรือรอบปาก
- มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ตาลาย
- สับสน อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกตัว ชัก หรืออาจถึงขั้นหมดสติ
ใครบ้างกลุ่มเสี่ยง "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ"
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมานานมากกว่า 10 ปี
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ หรือโรคไต
- ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยกะทันหันด้านร่างกายและจิตใจ
ดูแลเบื้องต้นอย่างไร เมื่อมี "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ"
หากเกิดอาก่ารไม่รุนแรง ถ้ายังรู้สึกตัว ให้รีบรับประทานของหวาน ๆ เช่น ลูกอมทันที ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้ แต่หากมีอาการรุนแรงจน "ไม่รู้สึกตัว" หรือ "หมดสติ" ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทั้นที ห้ามให้อาหารหรือน้ำ ช่วงหมดสติ เพราะอาจทำให้ลำลักลงปอดได้
ดังนั้นการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร กินอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายแต่พอดี กินยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และหากทราบว่ามีภาวะนำตาลในเลือดต่ำ มีคำแนะนำ คือ
- ควรมีลูกอม หรือน้ำตาลก้อนติดตัวไว้ ยามฉุกเฉิน
- แจ้งญาติหรือผู้ใกล้ชิดให้ทราบ และอธิบายวิธีการช่วยเหลือเมื่อมีอาการผิดปกติ
- ควรแจ้งแพทย์ในกรณีที่ต้องรับประทานยารักษาโรคอื่นร่วมด้วย
- ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ
หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากสงสัยว่า "ระดับน้ำตาล" ของตนเองไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์และตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ
อ้างอิง : โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ "ซิงซิง" จากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงชายแดน "ไทย - เมียนมา"
ไม่เลื่อน! ตรุษจีนนี้จ่ายเงิน 10,000 เฟส 2 กลุ่มสูงอายุ
ค่าฝุ่น PM 2.5 กทม.เช้านี้เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่ ติดอันดับ 9 โลก