เบื่อจนหมดใจ-หมดไฟเพราะงานล้นมือ
Boreout - เบื่อจนหมดใจ เพราะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่มีความหมาย สำหรับพนักงานหลาย ๆ คนที่ตื่นมาในทุก ๆ เช้าแล้วเริ่มรู้สึกว่า งานที่ทำซ้ำซาก ไม่มีความท้าทาย ไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่มันมีประโยชน์อะไร หรือรู้สึกว่าองค์กรไม่ได้ใช้ความสามารถของเราอย่างเต็มที่
คำว่า "Boreout" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2550 โดยนักธุรกิจชาวสวิส Peter Werder และ Philippe Rothlin ในหนังสือ Diagnose Boreout ก่อนหน้านั้นในปี 2534 นักการศึกษาชาวอเมริกัน Barry A.Farber ได้กล่าวถึงภาวะนี้ในชื่อว่า Underchallenged Burnout
ดร.ล็อตตา ฮาร์ยู ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กร อธิบายว่า Boreout คือ ความเบื่อหน่ายเรื้อรังที่เกิดจากการที่เรารู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความหมายหรือไม่มีคุณค่าใด ๆ งานที่ทำดูเหมือนไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน หรือทำไปก็ไม่มีผลต่อสิ่งใด ความเบื่อหน่ายแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราว แต่เป็นความรู้สึกที่สะสมจนส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกาย
ปรากฏการณ์ Boreout ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่พบได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่พนักงานขายปลีกที่ต้องยืนเฉย ๆ รอลูกค้า ไปจนถึงพนักงานออฟฟิศในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ที่ทำให้คนทำงานรู้สึก "ว่างเปล่า" แม้จะนั่งอยู่หน้าโต๊ะทำงานทั้งวัน ความเบื่อที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกไร้ค่า สูญเสียแรงจูงใจ และส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว
Burnout - หมดไฟเพราะงานล้นมือ ภาวะที่เกิดจากความเครียดและภาระงานที่มากเกินไป งานเยอะจนทำไม่ทัน ทำงานหนักแบบไม่มีเวลาพัก รู้สึกเหมือนตัวเองถูกคาดหวังตลอดเวลา สุดท้ายก็เหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ จนไม่เหลือแรงแม้แต่จะสนุกกับชีวิต
"เหนื่อยหน่าย-เบื่อหน่าย" บ่วงรัดทั้งเจ้านาย-ลูกน้อง
แม้การแก้ปัญหา Boreout จะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการหาวิธีสร้างแรงบันดาลใจในงานที่ทำ เช่น การขอรับผิดชอบงานที่น่าสนใจกว่าเดิม แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการยอมรับปัญหานี้และพูดคุยกับผู้บริหาร เพราะในวัฒนธรรมองค์กรทั่วไป ความเบื่อหน่ายมักถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว มากกว่าจะเป็นความรับผิดชอบขององค์กร นักวิจัยอย่าง ฟาห์รี ออซซุงกูร์ จากมหาวิทยาลัยเมอร์ซิน ประเทศตุรกี ย้ำว่า
การสร้างคุณค่าในงาน ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า
เช่น การปรับเปลี่ยนงานเล็กน้อยหรือการแสดงความชื่นชมในผลงานของพนักงาน นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานก็ช่วยลดความเบื่อหน่ายได้เช่นกัน
- หัวหน้ามองแต่ตัวเลข ไม่สนใจความรู้สึก หัวหน้าบางคนมองแค่ผลงานในเชิงปริมาณ แต่ลืมไปว่าลูกน้องคือคนที่มีอารมณ์ความรู้สึก การทำงานที่ขาดความหลากหลายหรืองานที่ท่วมเกินไป ล้วนทำให้พนักงานรู้สึกหมดแรงหรือหมดใจได้ทั้งสิ้น
- ไม่มีการกระจายงานที่เหมาะสม บางทีคน ๆ หนึ่ง ทำงานหนักจน Burnout ในขณะที่อีกคนไม่มีงานทำจน Boreout เพราะหัวหน้าขาดทักษะในการบริหารจัดการงานให้สมดุล
- ระบบองค์กรที่ขาดโอกาสในการเติบโต งานที่ไม่มีความท้าทาย หรือไม่มีโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จะทำให้พนักงานรู้สึกเบื่อหน่ายและไร้ความหวังในการเติบโต
ผลกระทบของ Boreout - Burnout ต่อองค์กร
- Boreout ทำให้พนักงานรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่เต็มใจทำงาน และขาดความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง
- Burnout ทำให้พนักงานเหนื่อยล้าจนไม่สามารถทำงานได้ดี อาจต้องลางานบ่อยขึ้น หรือแม้กระทั่งลาออก
ทั้ง 2 ภาวะ นำไปสู่ อัตราการลาออกที่สูงขึ้น ซึ่งสร้างต้นทุนให้กับองค์กรทั้งในด้านการเงินและเวลาในการหาคนใหม่
แล้วลูกน้องอย่างเราควรทำยังไง ?
1.วิเคราะห์ปัญหา ว่าเรากำลังเจอภาวะ Boreout หรือ Burnout อยู่กันแน่ จะช่วยให้เราหาทางแก้ไขได้ถูกทาง หากรู้สึกเบื่อหน่าย งานไม่ท้าทาย และไม่มีเป้าหมายชัดเจน อาจเป็น Boreout แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า เครียด และไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ นั่นคือ Burnout
2.เปิดใจพูดคุยกับหัวหน้า เพราะหัวหน้าอาจไม่รู้ว่าคุณกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ การเปิดใจพูดคุยอาจช่วยให้คุณได้รับงานที่เหมาะสมขึ้น หรือหัวหน้าอาจปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารให้ดีขึ้น
3.สร้างความหมายให้กับงานเอง ถ้างานที่ทำไม่มีความท้าทาย ลองหาวิธีทำให้งานมีความหมายขึ้น เช่น การกำหนดเป้าหมายเล็ก ๆ ให้ตัวเอง หาความท้าทายในสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว
4.พักเมื่อไม่ไหว หา (งาน) ใหม่เมื่อพร้อม หากลองทุกวิถีทางแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น คุณอาจต้องพิจารณา หางานใหม่ที่เหมาะกับคุณมากกว่า บางครั้งการเดินออกจากที่ที่ไม่ใช่ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตและสุขภาพจิตของคุณ
ส่วนผู้บริหารควรจัดสรรอะไร ?
1.จัดงานให้พอดี ท้าทายแต่ไม่ท่วมท้น พนักงานบางคนอาจต้องการงานที่ท้าทายเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่บางคนต้องการความชัดเจนและความช่วยเหลือ หัวหน้าที่ดีควรเรียนรู้ ความต้องการและศักยภาพของแต่ละคน แล้วมอบหมายงานที่เหมาะสม
2.เปิดพื้นที่พูดคุย ให้พนักงานกล้าบอกปัญหา หลายครั้งพนักงานที่เบื่อหน่ายหรือเหนื่อยล้าจากงานไม่กล้าพูดคุยกับหัวหน้า เพราะกลัวถูกตำหนิ การสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างให้พนักงานแสดงความคิดเห็นได้ จะช่วยให้หัวหน้าเข้าใจปัญหาและจัดการได้อย่างเหมาะสม
3.กำหนดเป้าหมายงานที่มีคุณค่าและความหมาย พนักงานที่รู้สึกว่างานของตัวเองมีความหมายและมีเป้าหมายที่ชัดเจน จะมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น หัวหน้าควรอธิบายว่า งานของพวกเขาส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างไร
4.สนับสนุนให้พนักงานมีเวลาในการพักผ่อนและทำกิจกรรมส่วนตัว ช่วยลดความเสี่ยงของ Burnout และ Boreout ได้ดี อย่าลืมว่า พนักงานที่มีความสุขจะทำงานได้ดีกว่า
5.ปรับเปลี่ยนงานเมื่อจำเป็น หากพบว่าพนักงานคนใดเริ่มเบื่อหน่าย ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ หรือหาโอกาสใหม่ ๆ ให้พวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง
จ้างด้วยเงินก็ได้งาน จ้างให้นานต้องจ้างใจ
องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ได้วัดจากแค่ผลกำไรหรือผลงานในระยะสั้น แต่ต้องวัดจากความสุขและความยั่งยืนของพนักงานด้วย หากหัวหน้างานสามารถป้องกันทั้ง Boreout และ Burnout ได้ องค์กรจะมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมจะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทในระยะยาว
ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ทั้ง Boreout และ Burnout ต่างเป็นภัยเงียบที่บั่นทอนชีวิตการทำงานอย่างช้า ๆ หากรู้สึกว่ากำลังติดอยู่ในกับดักนี้ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกแย่นานเกินไป เพราะสุขภาพจิตและความสุขของคุณสำคัญกว่า "ผลงาน" ที่หัวหน้าต้องการเห็น
อ่านข่าวอื่น :
"อังคณา" จี้นายกฯ อย่านิ่งเฉยปมยิงอดีต สส.กัมพูชา ดับกลางกรุง
ทองคำ บวก 150 บาท เปิดตลาด “รูปพรรณ” ขายออก 43,800 บาท