"ซิงซิง (Xing Xing)"นักแสดงชาวจีน หนึ่งในเหยื่อที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจ พื้นที่อิทธิพลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยดูแล แต่โชคดีที่ตำรวจไทยช่วยเหลือออกมาได้ ต่างจาก "หยาง เจ๋อ" ฉี นายแบบ และสองสาวจีนนาม "อู๋ เจียฉี" และ "หลิว ลู่อิง" ซึ่งยังตามตัวไม่พบ หลังเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ และหายตัวไปจากชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ก่อนปลายปี 2567
เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำเสนอจากสื่อ จึงทำให้ความช่วยเหลือเดินทางมาถึงช้า กว่าที่ควรจะเป็น แม้ยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่า ทั้งหมด คือ เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ แต่คาดการณ์ได้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่ม"ทุนจีนสีเทา" ที่ขณะนี้เข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์
อ่านข่าว: กลุ่มจีนเทาย้ายฐาน "แก๊งค้ามนุษย์" ระบาดหนักทั่ว "อาเซียน"
การกวาดล้าง "ผับจิ้นหลิง" ของ "ตู้ห่าว" ไม่ใช่เคสแรกที่ทำให้สังคมไทยตระ หนักว่า ทุนจีนสีเทา มีอยู่จริง หากแต่การระบาดของกลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญก่อนหน้านั้น สะท้อนให้เห็น การขยับขับเคลื่อนของกลุ่มจีนเทา ได้รุกคืบอาเซียนเข้ามาอย่างเงียบเชียบ
"เขตเศรษฐกิจพิเศษ" แรงผลัก "ทุนจีนเทา"
ปฎิเสธไม่ได้ว่า การเกิดขึ้นของ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone)" ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้กลุ่มทุนผิดกฏหมายได้ย้ายฐานตามมาด้วย โดยทุนจีนเทา มี 2 ประเภท คือ กลุ่มทุนจีนเทาในประเทศจีน และทุนจีนเทาในต่างประเทศ
โดยกลุ่มทุนจีนเทาจะมีฐานที่มั่นอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เช่น การค้ามนุษย์ สแกมเมอร์ หรือการฟอกเงิน ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นการหลอกล่อชาวจีนด้วยกันเองเพื่อสิ่งผิดกฎหมาย
เช่น การหลอกให้ชาวจีนชนบท ให้มาทำงานในเมืองหลวง หรือต่างประเทศ, การหลอกมาฆาตกรรม เพื่อแยกส่วนอวัยวะเพื่อนำมาขายในตลาดมืด หรือกระทั่ง การทำธุรกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อ "ฮั๊วประมูล"
ทุนจีนเทาในประเทศ มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ ทำให้ฝ่ายบริหารเลือกที่จะ "ปิดตาข้างหนึ่ง" อะไรหยวนได้ก็หยวน จึงทำให้ธุรกิจสีเทาจึงสามารถ ดำเนินการอย่างสะดวกภายในประเทศได้
ส่วนทุนจีนเทาโพ้นทะเล คือ ทุนจีนที่ "สายป่านไม่ยาวพอ" ที่จะประกอบอาชญากรรมในประเทศ และได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ "สี จิ้นผิง (Xi Jinping)" ชูโรงอย่างหนักในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุนจีนเทาเหล่านี้ ต้องเล็งหาโอกาสใหม่ ๆ รวมถึงโอกาสในการสร้างความยิ่งใหญ่ ต่อยอดธุรกิจได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะการเปิดเสรีแบบนี้ ทำให้รัฐบาลต้อง "หยวน ๆ" ให้แก่ธุรกิจที่มีความไม่ขาวสะอาด หรือใต้ดิน เพื่อการจัดเก็บภาษี และค่าปฏิกรรมต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น
รูปแบบในลักษณะดังกล่าว คล้ายกับ "จีนโพ้นทะเลอพยพ (Chinese Diaspora)" ที่เข้ามากระทำการ "อั๊งยี่ซ่องโจร" หรือ "ค้าฝิ่น" ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 จนต้องมีการปราบปรามอย่างหนัก เพียงแต่ความรุนแรงและหลากหลายของอาชญากรรมมีมากขึ้นตามยุคสมัย
กลุ่มทุนจีนเทาโพ้นทะเล ที่เลือกจะออกนอกประเทศมาประกอบอาชญากรรมต่างแดน โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญอยู่ที่ นโยบายต่างประเทศของปลายทาง ที่เปิดรับทุนข้ามชาติจากจีนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขน้อยที่สุด คือ กลุ่ม "อาเซียน" ที่แทบจะเป็นฉันทามติว่า เปิดประตูต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากจีนอย่างเปิดเผย
บทความวิจัย Development in Sihanoukville under Chinese influence เขียนโดย ทอม บอยห์เลอร์ (Tom Buehler) ชี้ว่า "กัมพูชา" เป็นประเทศที่ต้อนรับทุนจีนเป็นพิเศษ ต่างกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ซึ่งมีการวาง กฏ กติกา มาตรการ ในการกำกับดูแลและควบคุม เช่น ไทย ซึ่งตามกฎหมาย แม้จะเข้ามาศึกษา และลงทุนค้าขายได้ แต่ไม่สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือการอสังหาริมทรัพย์ได้
ในกัมพูชา "สีหนุวิลล์ (Sihanoukville)" คือ ตัวอย่างที่ชัดเจน หลังเปิด "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เพื่อรองรับการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนเป็นพิเศษ เปิดให้เช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการลงทุนของกลุ่มสีใด โดยที่รัฐบาล ฮุน เซน ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากถือเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน (Private Property)
ผลของการปล่อยปละละเลย ทำให้สีหนุวิลล์กลายเป็นแหล่งทุนจีนเทาขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน อาชญากรรมเกิดขึ้นแทบทุกอณู ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเปิดเสรีทุนจีนในแง่ลบ ผลเสียระยะยาว จากเดิมที่เมืองแห่งนี้ รัฐบาลกัมพูชาต้องการให้เป็น "สวรรค์การท่องเที่ยว" กลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของนายทุนอาชญากรรมแดนมังกร ขนาดที่นักท่องเที่ยวชาวจีนยังหวาดหวั่น ไม่กล้าเข้ามาเที่ยว
ขยับฐานก่ออาชญากรรม "ตะวันออก สู่ ตะวันตก"
การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อหวังดึงเม็ดเงินการลงทุนจากจีน ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมหาอำนาจโลก ส่งผลสะเทือนอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลประเทศปลายทางที่เคยมองว่าจะสามารถจัดการกับกลุ่มทุนจีนเทาได้ กลับกลายสร้างปัญหาหนักจนยากจะควบคุม
หลังสีหนุวิลล์เสื่อมความนิยมลง และทุนจีนเทาไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้แบบเดิม เนื่องจาก "องคาพยพ" หรือ "เหยื่อ" ภายในพื้นที่ลดน้อยลง จึงต้องขยายฐานและพื้นที่การก่ออาชญากรรม จากเดิมที่กระทำในฝั่ง "ตะวันออก" คือ กัมพูชา มุ่งหน้าสู่ "ตะวันตก" เพิ่มมากขึ้น
และไทยเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมาย และประเทศปลายทางสำคัญที่ทุนจีนสีเทา จับจ้อง แต่ยังไม่สามารถขยับได้มากนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ของไทยและสหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังคงแน่นแฟ้น ไม่หยวนให้จีนมากเท่าไรนัก ทุนจีเทาจึงรุดหน้าไปหาทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้น คือ "เมียนมา"
เจียง นา (Jiang Na) และคณะ เสนอบทความวิจัย International Cooperation to Combat Cross-Border Telecom Fraud Crimes: an Examination of Cooperation between China and Myanmar ความว่า ดินแดน "สามเหลี่ยมทองคำ" เป็นที่กระทำอาชญากรรมของชาวจีนมาช้านาน โดยเฉพาะ ยาเสพติด
แต่หลังจากที่สีหนุวิลล์ล่มสลายไป ทุนจีนสีเทาได้เข้ามาประกอบธุรกิจมืดใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ "คอลเซนเตอร์ และ สแกมเมอร์" ที่ล่อลวงผู้เสียหายผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งจากใช้วาจาหว่านล้อม หรือการใช้โปรแกรมดูดเงินระยะไกล
ขณะที่ประเด็นปัญหายาเสพติดไม่ได้หายไปไหน จากที่กลุ่มจีนเทาผลิตเพื่อขายในเมียนมา ก็เป็นพัฒนามาสร้างความร่วมมือกับชนกลุ่มน้อยเพื่อเป็นฐานในการผลิต เช่น กลุ่มว้าแดง ที่มีการปักหมุดบน Google Map ว่าเป็นแหล่งผลิตยาบ้าอย่างโจ่งแจ้ง เพื่อง่ายต่อการทำธุรกิจสีเทา
แต่ส่วนหนึ่ง คือ การท้าทายและดุลอำนาจกับรัฐบาล มิน อ่อง ลาย ที่ว่ากันว่า รับทุนสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนเป็นหลัก ไม่ให้เข้ามาปราบปรามง่าย ๆ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทุนจีนเทากลุ่มใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการขยายพื้นที่ก่อการ จากเดิมที่ทำในประเทศใด ประเทศหนึ่ง เช่น การค้ามนุษย์ ที่สามารถหลอกล่อชาวจีนด้วยกันเอง ให้มาพักที่ประเทศตัวกลาง ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเสียหายจากทุนจีนเหล่านี้ เช่น ไทย ก่อนที่จะรวบตัวไปกระทำอาชญากรรมในพื้นที่ชายขอบที่กฎหมายไทยเอื้อมมือไปไม่ถึง
และนับวันทุนจีนสีเทาเหล่านี้ มีแต่จะขยายสายพันธุ์และเครือข่ายองค์กรอาช ญากรรมเพิ่มมากขึ้น หากอาเซียนหรือภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไร้กฎหมายควบคุมเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยลืมมองผลลัพธ์ที่จะตามมาในอนาคต
แหล่งอ้างอิง
- บทความวิจัย Development in Sihanoukville under Chinese influence
- บทความวิจัย International Cooperation to Combat Cross-Border Telecom Fraud Crimes: an Examination of Cooperation between China and Myanmar
- https://www.bangkokpost.com/world/2930361/china-charges-myanmar-golden-triangle-syndicate-suspects-with-murder-and-telecoms-fraud